5 มาตรการกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์ไทยสวนกระแสเศรษฐกิจ ดั๊บเบิ้ล เอ รวมพลังผู้เกี่ยวข้องระดมสมองในงานสัมมนา

ข่าวทั่วไป Tuesday July 12, 2005 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
พบสัญญาณตลาดนิตยสาร พ็อคเก็ตบุ๊คหดตัว ส่งผลต่อสำนักพิมพ์รายเล็ก วีรพงษ์ชี้ 5 มาตรการกระตุ้นสวนกระแส ดั๊บเบิ้ล เอ รวมพลังผู้เกี่ยวข้องในอุตฯ สิ่งพิมพ์ไทยหารือในงานสัมมนา จับมือ mai แนะช่องทางระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ พร้อมเตรียมส่งโครงการใหม่กระตุ้นตลาดเพิ่ม อาทิ 10 นักเขียน และเพื่อนดั๊บเบิ้ล เอ
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวว่า ดั๊บเบิ้ล เอ เป็นแกนนำในการจัดงานสัมมนาเรื่อง “จับตาเศรษฐกิจ ผนึกพลังกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์ไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยได้ขยายตัวในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะจะสังเกตได้ว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธุรกิจสิ่งพิมพ์ไทยไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากเท่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะนิตยสารหรือหนังสือเล่มหัวใหม่ๆ ออกน้อยลง ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อสำนักพิมพ์รายเล็กมากขึ้น และยังได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในการให้ความรู้เกี่ยวกับด้านการเงิน การหาช่องทางเพิ่มทุนให้กับธุรกิจ
สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมากหากได้รับการสนับสนุนและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องร่วมกันจากทุกฝ่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงนั้นสร้างรายได้จากการส่งออกสิ่งพิมพ์ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะเติบโตเป็น 30,000 ล้านบาทภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และโดยอ้อมคือการเป็นสื่อหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไปพร้อมกับผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยซึ่งมีมูลค่าอีกมหาศาล โดยรวมแล้ว มูลค่าตลาดของสิ่งพิมพ์ของไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้ให้กับคนในประเทศได้หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรกว่าล้านครอบครัวที่ปลูกไม้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ กลุ่มโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ที่มีจำนวนรวมแล้วกว่า 3,000 แห่ง โรงแปรรูปกระดาษ ร้านเพลท หมึกพิมพ์ ร้านแยกสี ขยายไปจนถึงบรรดานักเขียน นักออกแบบด้วย จะเห็นได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในวงจรของอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกันนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในประเทศเป็นหลัก
ดร.วีรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ให้เติบโตได้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายเป็นวงจรที่เกี่ยวข้องกัน นับตั้งแต่การเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุนจากภาครัฐ การกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการใช้สิ่งพิมพ์คือการกระตุ้นการอ่านของคนไทยโดยผ่านไปทางภาคการศึกษา ครอบครัว การส่งเสริมให้โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ได้ผลิตสิ่งพิมพ์ที่มีคุณภาพ การมีงานวิจัยเชิงลึกที่ส่งผลต่อตลาดสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่การส่งเสริมให้มีการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในงานโฆษณามากขึ้น ต่างก็เป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันกระตุ้นให้ตลาดสิ่งพิมพ์ไทยเติบโตได้ และในขณะเดียวกันคุณภาพของงานพิมพ์จากฝีมือโรงพิมพ์ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกสิ่งพิมพ์อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือจีนได้ จึงไม่ใช่ปัญหาในการรับงานพิมพ์จากต่างประเทศเข้ามาพิมพ์ในเมืองไทย ซึ่งหากประเทศไทยมีการส่งเสริมที่เป็นระบบและทุกฝ่ายร่วมมือกัน ย่อมทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยเข้มแข็ง พร้อมที่จะขยายตัวไปในตลาดใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
ในด้านของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นของคนในวงการสิ่งพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง การทำโครงการ “Double A Thailand Print Center” เพื่อช่วยทำหน้าที่ดึงออเดอร์งานพิมพ์จากต่างประเทศเข้ามาพิมพ์กับโรงพิมพ์ของไทย การร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพี่อร่วมกันส่งเสริมการอ่านให้กับเยาวชนและสังคม การเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการสั่งงานพิมพ์ผ่านบริการสายด่วน 1759 Double A Print Express
หรือแม้กระทั่งเมื่อเร็วๆ ดั๊บเบิ้ล เอ ได้ให้การสนับสนุนผลักดันให้บริษัทวิจัย ทำการวิจัยเชิงลึกพฤติกรรมการบริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเอเยนซีในการเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อโฆษณามากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญในการลงสื่อสิ่งพิมพ์ในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า โดยประเทศไทยใช้สื่อโฆษณาในแมกกาซีนเพียง 7 % จากงบการลงโฆษณาทั้งหมด ในขณะที่ต่างประเทศอย่างไต้หวัน และฮ่องกง จะพบว่ามีการจัดสรรงบโฆษณาในสื่อแมกกาซีนมากถึง 13 % และ 15 % ตามลำดับ เพราะสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสาร สามารถให้รายละเอียดที่สมบูรณ์มากกว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงได้มากกว่า และเป็นสื่อที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าสื่ออื่น ๆ มาก แต่ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
นอกจากนี้ดั๊บเบิ้ล เอ ยังมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อีก 2 โครงการ คือ โครงการ “10 นักเขียน” ที่ดั๊บเบิ้ล เอ ต้องการร่วมมือกับสำนักพิมพ์ในการสร้างหนังสือดี ๆ สู่ตลาดให้มากยิ่งขึ้น และโครงการที่เรียกว่า “เพื่อนดั๊บเบิ้ล เอ” ที่ดั๊บเบิ้ล เอจะมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วม เช่น สิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมของดั๊บเบิ้ล เอ เช่นการอบรม สัมมนา รวมทั้งจะเป็นการรวมพลังพันธมิตร เพื่อสร้างพลังในการต่อรอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสั่งซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ในอนาคต เป็นต้น
งานสัมมนาเรื่อง “จับตาเศรษฐกิจ ผนึกพลังกระตุ้นตลาดสิ่งพิมพ์ไทย” ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ดั๊บเบิ้ล เอ ต้องการสนับสนุนการพัฒนาอุตสหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทย โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการมาระดมความคิดเห็น เพื่อให้เกิดแนวทางสำหรับกระตุ้นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และช่วยขยายตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท คิธ แอนด์ คินฯ จำกัด
คุณจรรยา นุกูลกิจ โทร. 02 663 — 3226 ต่อ 65 หรือ 09- 814 8941--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ