ธพว. ช่วยพยุงธุรกิจ SMEs รายย่อยกว่า 8,100 กิจการ พลิกฟื้นกิจการรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไตรมาส 4 /2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 19, 2016 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ธพว. นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน ธพว. จึงกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่เคยประสบปัญหาและเริ่มกลับมาเข้มแข็ง ด้วยการส่งทีมเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาธุรกิจและช่วยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่ง ในปี 2559 ธพว. ได้ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 6,999 ราย เป็นวงเงินรวม 9,207 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจรายย่อยดังกล่าวมีความเข้มแข็งมากขึ้นสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ช่วยรักษาการจ้างงาน และกระตุ้นการหมุนเวียนในระบบต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 / 2559 นี้ ซึ่งเป็นช่วง High season จะส่งผลดีต่อกิจการของผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัดได้อย่างชัดเจน นอกจาก กลุ่มลูกค้าปกติแล้วธนาคารยังให้โอกาสไปถึงกลุ่มที่เคยติดขัดแต่ยังประคับประคองธุรกิจอยู่ต่อไป อาทิ ลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นตอนกฏหมาย ธนาคารได้จัด โครงการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ร่วมกับกรมบังคับคดี ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 7 จังหวัด คือ สงขลา กรุงเทพ ขอนแก่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา เจรจาสำเร็จ รวม 872 ราย คิดเป็นเงินต้น 276 ล้านบาท และมีแผนจะจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อีกหลายแห่ง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อุบลราชธานี นครพนม และในเขตพื้นที่กรุงเทพอีกด้วย คาดว่าจะสามารถช่วยรักษากิจการให้อยู่รอดต่อไปอีกมากกว่า 2,000 ราย รวมไปถึงการเข้าไปช่วยลูกค้าที่ยังทำธุรกิจอยู่และต้องการฟื้นฟูกิจการตามพรบ.ล้มละลายใหม่ โดย ธพว. เป็นธนาคารแรกที่ช่วยฟื้นฟูลูกหนี้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้มีลูกหนี้ธนาคารที่เข้าฟื้นฟูกิจการรวม 4 ราย และศาลรับคำร้องแล้ว 2 ราย คือ บจก. บูรพา มิวซิเคิล และ บจก.สาธิดา การ์เม้นท์ และมีลูกหนี้ที่ธนาคารจะส่งเข้ารับการพิจารณาขอทุนพลิกฟื้นกิจการของ สสว. จำนวน 10 ราย โดยมีสิทธิกู้เงินเพื่อมาพลิกฟื้นกิจการ ของ สสว.ที่มีวงเงินโครงการรวม 2,000 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 7 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวอีกว่า นโยบายธพว. จะให้โอกาสอย่างที่สุดในการช่วยเหลือแม้แต่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ในโครงการพัฒนาแท็กซี่ไทย ธนาคารก็เข้าไปดูแลโดยเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้างหนี้โดยชำระตามรายได้จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขหนี้ช่วยผู้ประกอบการแท๊กซี่แล้วจำนวน 309 ราย คิดเป็นเงินต้น 129 ล้านบาท " ผมมั่นใจแนวทางที่ ธพว. เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้รายย่อยหลากหลายกลุ่มดังกล่าว เป็นการให้โอกาสเพื่อช่วยพยุงธุรกิจของพวกเขาให้ยังคงอยู่ เป็นการให้ยาช่วยรักษาไข้เบื้องต้น และเชื่อว่าไตรมาส 4 ปีนี้ที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวชัดเจน ก็จะเป็นสัญญาณที่ดีให้ลูกหนี้กลุ่มต่างๆ เริ่มสร่างไข้ ธุรกิจพลิกฟื้นใหม่อีกครั้ง " นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธพว.เป็นหน่วยร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME หรือที่เรียกว่า SME Rescuer Center โดยทุกสาขา ธพว. จะเป็นศูนย์ Rescuer เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME รายย่อย ทั้งปัญหาด้านการเงิน และปัญหาอื่นๆ เช่นปัญหาการตลาด การหาช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาสินค้าให้มีโอกาสค้าขายได้เพิ่มขึ้นตามพันธกิจของ ธพว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ