กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
"ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งรอบรู้" คือแนวคิดของคนที่ขวนขวายใฝ่รู้ โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ทำให้การเรียนรู้ของเยาวชนทำได้หลายช่องทาง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยทำให้สามารถค้นคว้า และก้าวทันข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันหากมีการใช้เกินความจำเป็น โดยเฉพาะการใช้งานโซเชียลมีเดียของเยาวชนไทยที่ปัจจุบันพบว่ามีการใช้งานสูงถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจมีผลเสียตามมาได้ เช่น ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สุขภาพเสื่อมโทรม ปัญหาการเรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้เยาวชนส่วนมากจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดต่อวันไปกับโลกออนไลน์ แต่ยังมีบางส่วนที่สามารถจัดสรรเวลาไปกับสิ่งที่ชื่นชอบหรืองานอดิเรกได้ อาทิ เล่นกีฬา สร้างสรรค์งานศิลปะ เล่นดนตรี ถ่ายภาพ รวมไปถึงสะสมสิ่งของที่ชื่นชอบ
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยจึงอยากกระตุ้นความเป็นนักสะสมในตัวของเยาวชน ให้ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของแสตมป์ไทยของสะสมสุดคลาสสิกของคนไทยให้มากขึ้น และเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ไปรษณีย์ไทยจึงยกตัวอย่าง 3 เยาวชนต้นแบบนักสะสมแสตมป์ เพื่อสะท้อนแนวคิดความเป็นเยาวชนคุณภาพในภาวะโลกดิจิทัล ดังนี้
"แสตมป์เปิดหน้าต่างท่องเที่ยว"
น้องพรรณอร มีสาวงษ์ นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ อายุ 21 ปี เล่าว่า การสะสมแสตมป์ของตนเองเริ่มต้นจากได้มีโอกาสติดตามคุณแม่ไปงานจัดแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชียครั้งหนึ่ง ได้เห็นว่ามีแสตมป์จากหลายประเทศทั้งแบบที่ใช้แล้ว ยังไม่ได้ใช้ และแสตมป์หายาก ของแต่ละประเทศมาจัดแสดง และจัดจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งแสตมป์แต่ละดวงบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นประเทศนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน จึงได้ขอคุณแม่ซื้อแสตมป์ภาพสวยงามต่าง ๆ มาหลายแบบ ทำให้เกิดความสนใจและเก็บสะสมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการสะสมแสตมป์คือการได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร บอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวและความยากของการจัดสร้างแสตมป์แต่ละดวง ทำให้เห็นคุณค่าของแสตมป์มากขึ้น สำหรับแสตมป์ที่ชอบมากที่สุดคือ แสตมป์ภาพธรรมชาติ และภาพสถานที่สำคัญของสถานที่ต่าง ๆ ของไทย เพราะเป็นคนชอบท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ เช่น อุทยาน ภูเขา น้ำตก ทะเล ฯลฯ ทำให้เวลาเห็นภาพธรรมชาติหรือสถานที่ต่าง ๆ บนดวงแสตมป์ เป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้ออกไปท่องเที่ยวตามรอยแสตมป์เพื่อไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง
"แสตมป์เสริมอรรถรสศิลป์"
น้องแสงดาว ศรีเมือง นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อายุ 23 ปี กล่าวว่า การที่เลือกสะสมแสตมป์เพราะแสตมป์แต่ละดวงมีเสน่ห์ มีลวดลายที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป ให้ความรู้สึกเหมือนการได้สะสมงานศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแสตมป์ที่เก่าและหายากก็จะมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้การสะสมแสตมป์เป็นการสะสมทรัพย์ทางอ้อมอีกด้วย นอกจากนี้กิจกรรมการสะสมแสตมป์ทำให้ได้มิตรภาพเพิ่มขึ้น มีเพื่อนมากขึ้น จากการเข้ากลุ่มคนที่มีรสนิยมและความชอบในการสะสมแสตมป์เหมือนกัน ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันและกัน ทั้งการนำแสตมป์แบบใหม่ ๆ มาแชร์กัน การเล่าเรื่องราวแสตมป์หายากสู่กันฟัง สร้างความเพลิดเพลินให้แก่กิจกรรมนี้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
"แสตมป์กับไดอารี่ชีวิต"
น้องกุลยา กุลโภคิน นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 22 ปี เล่าเพิ่มเติมว่า ตนเองเริ่มสะสมแสตมป์ตั้งแต่เรียนชั้นประถม โดยมีคุณแม่เป็นต้นแบบ ซึ่งท่านสะสมตั้งแต่ยุคที่การเขียนจดหมายถึงกันยังเฟื่องฟูและการสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรกยอดฮิต คุณแม่มักเอาแสตมป์มาให้ดูพร้อมกับเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับของภาพแสตมป์ต่างๆ ให้ฟัง ทำให้ได้ซึมซับความสำคัญและเสน่ห์ของแสตมป์มากขึ้น แต่สังคมยุคปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น แสตมป์ถูกลดบทบาทลง ประกอบกับวิถีชีวิตของเยาวชนยุคปัจจุบันที่ใช้เวลาในแต่ละวันไปกับโซเชียลมีเดีย ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในเยาวชนส่วนใหญ่ที่ใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน คิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งเวลามาทำงานอดิเรกที่ชอบ โดยเฉพาะการสะสมแสตมป์ที่ชื่นชอบเพราะความน่าสนใจของแสตมป์ไม่ใช่แค่เพียงแค่หลักฐานการชำระเงินค่าใช้บริการไปรษณีย์ แต่คือ ความสวยงามของภาพบนดวงแสตมป์ และแสตมป์ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์ ตลอดจนเป็นเครื่องบ่งบอกเอกลักษณ์ของประเทศ การสะสมแสตมป์จึงเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สามารถเพิ่มพูนความรู้กับสิ่งที่ชอบได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองและโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้ตนเอง ปัจจุบันที่บ้านมีแสตมป์มากมายหลายแบบ และจากหลายประเทศรวมกว่า 500 ดวง
นางสาวกุลยา บอกอย่างเชื่อมั่นว่า แม้ปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนเป็นยุคดิจิทัล การส่งจดหมายส่วนตัวเพื่อสื่อสารกันลดลงมาก ส่งผลให้การใช้งานแสตมป์ลดลงไปด้วย แต่แสตมป์จะไม่สูญหายไปจากคนไทยแน่นอน หากยังได้รับการสนับสนุนจากคนไทยด้วยกันเอง จึงอยากเชิญชวนให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับแสตมป์หลักฐานทางการสื่อสารนี้มากขึ้น ผ่านการใช้งานหรือการสะสม เพราะการที่เรามีความชอบในสิ่งใดแล้วตั้งใจทำแม้จะเป็นเพียงงานอดิเรกก็จะพบประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นมากมาย เช่นเดียวกับการสะสมแสตมป์สิ่งของสะสมเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยความหมาย ที่นอกจากผู้สะสมจะได้ชื่นชมภาพสวยงามฝีมือคนไทยแล้วยังจะช่วยให้ผู้สะสมเป็นผู้ใฝ่รู้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะได้แสตมป์แต่ละดวงมาสะสม อีกทั้งช่วยให้เป็นคนที่ใจเย็น ละเอียดอ่อน เป็นระเบียบ และมีสมาธิเนื่องจากการลอกล้างแสตมป์ การหยิบจับ หรือการจัดเก็บต้องอาศัยความประณีต และต้องใช้เวลาพอสมควร
สำหรับผู้สนใจเรื่องราวของแสตมป์และต้องการหาซื้อแสตมป์ที่ระลึกหรือไปรษณียบัตรของไปรษณีย์ไทยสามารถเยี่ยมชมได้ ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ อาทิ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โดยในกรุงเทพฯ สามารถเข้าชมได้ที่ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน (สถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย) ที่เปิดให้บริการเยาวชนและประชาชนทั่วไปในวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.00 น. (ปิดจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0 2271 2439, 0 2831 3722, 0 2831 3810 หรือเฟซบุ๊คThai Stamp Museumหรือ THP Contact Center 1545 เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th