เห็ดนกยูงกับการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยง

ข่าวทั่วไป Thursday February 22, 2001 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ประเทศไทยของเราเป็นประเทศหนึ่งในแถบเอเชียที่มีความสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพสูงมาก ในบรรดาความหลากหลายนี้ได้รวมจุลินทรีย์ไว้ด้วย เห็ดก็เป็นจุลินทรีย์ประเภทราชนิดหนึ่งที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง เห็ดในประเทศไทยมีหลายร้อยหลายพันชนิด มีทั้งที่เป็นพิษและที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งนอกเหนือจากการนำมาใช้รับประทานแล้วยังสามารถนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคหรือเป็นอาหารบำรุงร่างกายต่าง ๆ อาทิ เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดหอม ฯลฯ และนำมาใช้เป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิวได้อีกด้วย
เห็ดนกยูง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrolepiota gracilenta (Krombh.) Moser และมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ได้แก่ เห็ดกระโดง เห็ดหนังกลอง เห็ดฆ้อนกลอง เป็นเห็ดที่เกิดตามธรรมชาติขึ้นอยู่บนพื้นดินที่มีหญ้าปกคลุม พบมากตามทุ่งหญ้าโดยเฉพาะบริเวณที่มีการเลี้ยงวัวควาย เป็นเห็ดที่มีมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มักพบเห็นได้บ่อย ๆ ในช่วงฤดูฝน
ลักษณะทั่วไป เป็นเห็ดรูปทรงร่ม มีขนาดใหญ่ หมวกดอกเมื่อแรกเริ่มซึ่งยังปิดอยู่มีลักษณะกลมสีน้ำตาล ต่อมามีรูปร่างคล้ายกระดิ่งและเมื่อบานเต็มที่จะมีลักษณะเกือบจะแบนราบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 ถึง 15.5 เซนติเมตร เนื้อหมวกดอกมีสีขาว มีจุดสีน้ำตาลเข้มตรงกลางหมวกดอกและมีเกล็ดขนาดเล็กมองดูเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายออกโดยรอบไปยังขอบหมวกดอกทำให้เกิดเป็นลวดลายบนหมวกดอกคล้ายลายของปีกนกยูง ครีบหมวกมีสีขาวและไม่ติดกับก้านดอก ก้านดอกมีความยาว 10.0 ถึง 15.5 เซนติเมตร หนา 1 ถึง 1.30 เซนติเมตร ตรงส่วนโคนก้านพองออกเป็นกระเปาะ ก้านดอกส่วนบนมีเยื่อวงแหวนมีลักษณะหนาอยู่ใต้หมวกดอก สปอร์เป็นรูปไข่มีขนาด 10 -13 x 7-8 ไมครอนแหล่งที่พบ พบแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
คุณประโยชน์ สามารถนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารได้ มีคุณค่าทางโภชนาการอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบี 1 บี 2 และไนอาซีน สูงกว่าเห็ดอื่นๆหลายชนิด
เห็ดชนิดนี้มีรสชาติหวานอร่อยไม่แพ้เห็ดโคน เนื้อเห็ดค่อนข้างนุ่มแต่ก้านจะเหนียวกว่าเห็ดธรรมดา และมีให้รับประทานเฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงสกุล Macrolepiota ในเชิงพาณิชย์" ร่วมกับศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ซึ่งเป็นฟาร์มเพาะเห็ดขนาดใหญ่ ณ บริเวณพุทธมณฑลสาย4 โดยมีเป้าหมายหลักที่จะนำเห็ดนกยูงจากธรรมชาติมาพัฒนาให้เป็นเห็ดที่เพาะเลี้ยงได้ เพื่อให้เกิดเป็นสาธารณประโยชน์แก่เกษตรกร นำไปเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น
ฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูง คือช่วงฤดูฝน ขั้นตอนของการทำวิจัยเริ่มต้นด้วยการเก็บดอกเห็ดจากธรรมชาติ และนำดอกเห็ดที่ได้มาแยกเชื้อบริสุทธิ์ แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในฟาร์ม ในปัจจุบันยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้ในฟาร์มเห็ดทั่วไป
นายชัยณรงค์ บุญเข็มทอง นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเชื้อราวิทยา ไบโอเทค และทีมงานจากศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก เป็นผู้เริ่มทำวิจัยพัฒนาสายพันธุ์และเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เห็ดนกยูงได้ประสบผลสำเร็จ วิธีการเพาะเริ่มจากการแยกเชื้อเห็ดให้บริสุทธิ์ (pure culture) โดยใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture)จากดอกเห็ด ซึ่งเลี้ยงในอาหารวุ้นที่ใช้เลี้ยงเชื้อสูตร พี ดี เอ (PDA : Potato Dextrose Agar) และนำเชื้อบริสุทธิ์ที่ได้ไปเพาะขยายหัวเชื้อ (spawn culture)ในเมล็ดข้าวฟ่างที่นึ่งสุกแล้วซึ่งบรรจุไว้ในขวดแก้วใส ขั้นตอนต่อมาจึงนำหัวเชื้อเห็ดนกยูงที่ได้นี้ไปเพาะลงบนวัสดุเพาะโดยใช้ฟางข้าวหมักซึ่งบรรจุในถุงพลาสติก หลังจากที่เส้นใยเห็ดเจริญเต็มที่แล้วจึงทำการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ดโดยเปิดปากถุงพลาสติก และนำดินมากลบบนผิวหน้าของก้อนเชื้อเห็ด (casing) ทำการเปรียบเทียบทั้งในสภาพธรรมชาติและภายใต้สภาวะควบคุมในตู้ปิดที่สามารถควบคุมสภาวะของแสง อุณหภูมิ และความชื้นได้ (closed chamber) นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการนำวัสดุเหลือใช้ต่างๆมาทำเป็นวัสดุหมักโดยปรับปรุงสูตรให้มีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเห็ดดังกล่าว พบว่าขี้เลื่อย ซึ่งเป็นวัสดุเพาะอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในการเพาะเห็ดชนิดอื่นไปแล้วยังสามารถนำมารีไซเคิลสำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงได้ จากผลการทดลองเริ่มตั้งแต่การเพาะเชื้อจนกระทั่งเกิดดอกเห็ดใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะเชื้อเห็ดประมาณ 3 เดือน เมื่อเชื้อเห็ดที่เพาะไว้เจริญเต็มที่แล้วตุ่มดอกเห็ดจะเริ่มเกิดขึ้นมาให้เห็นภายในระยะเวลา 1 เดือน และต่อมาจะพัฒนาจนกลายเป็นดอกบานภายใน 5 วัน รวมระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน ทั้งนี้ผู้เพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงจะต้องให้ความชื้นอย่างเพียงพอในช่วงที่เปิดดอกเห็ด โดยการรดน้ำในช่วงเช้า กลางวัน และตอนเย็นนายชัยณรงค์ กล่าวว่าปัจจุบันกำลังจะทดลองนำเห็ดนกยูงไปขยายการเพาะเลี้ยงลงบนวัสดุหมักที่ทำเป็นแปลงทดลองเพาะเลี้ยงเห็ด หากผลการทดลองเพาะเลี้ยงลงบนแปลงวัสดุหมักได้ผลผลิตสูงและประสบผลสำเร็จ ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างธุรกิจชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพาะเลี้ยงเห็ดนกยูงต่อไป นับว่าเป็นความหวังและอนาคตใหม่ของเกษตรกรไทย และอีกไม่นานเห็ดนกยูงนี้ก็คงจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รสชาติที่หวานเมื่อนำมาประกอบอาหารก็คงจะอร่อยถูกลิ้นคนไทยไม่แพ้เห็ดชนิดอื่น ๆ ที่นิยมบริโภคกันในปัจจุบัน และหากมองไปไกลในอนาคตถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร หากมีการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายจนเป็นที่นิยมแล้ว ก็สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อการส่งออกได้ ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยของเราได้ดีทีเดียว
ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายชัยณรงค์ บุญเข็มทอง นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเชื้อราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
โทรศัพท์ 644-8150-4 ต่อ 423
โทรสาร 644-8107
e-mail : chainaro@biotec.or.th
หรือสอบถามได้ที่ คุณปราโมทย์ ไทยทัตกุล ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก
โทรศัพท์ 889-8740-47 โทรสาร 441-9246
รุ่งนภา ทัดท่าทราย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ