กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี?โทรศัพท์
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาค 2016 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ในระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน ณ ดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อการเข้าสู่การเป็นประเทศชั้นนำในระดับนานาชาติ โดยการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และการเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล ในการนี้ได้รับเกียรติจากพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมในพิธีเปิดด้วย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเจ้าภาพหลักของงาน Startup Thailand 2016 กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมทุกรูปแบบ อาทิ การสร้างผู้ประกอบการที่มีความสามารถและและดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกมาเมืองไทย การปรับกฎหมายธุรกิจเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพ ส่งเสริมกิจการร่วมลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ เป็นต้น โดยการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand 2016 ทั้งหมดในปีนี้ เป็นการประกาศจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้ฐานเศรษฐกิจนี้เพื่อการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0
"งาน Startup Thailand & Digital Thailand ภูมิภาค 2016 ที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงาน Startup Thailand และ Digital Thailand ที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่และขอนแก่น ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การส่งเสริมภูเก็ตสู่ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพและเมืองอัจฉริยะ" นอกจากนี้ยังมีการสัมมนาและบรรยายพิเศษ การจัดแสดงบูธนิทรรศการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ บูธแหล่งเงินทุน บูธให้คำปรึกษา รวมกว่า 200 บูธ และเชื่อว่าจะมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และสตาร์ทอัพ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก" ดร.พิเชฐ กล่าว
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การส่งเสริมภูเก็ตสู่ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพและมืออัจฉริยะ" สรุปสาระสำคัญว่า วันนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการสร้างสะพานเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันอย่างประชารัฐอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมตามกฎหมายสากล ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดี เพราะความร่วมมือกันของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน โดยข้าราชการและรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค ทั้ง 76 จังหวัดให้ได้ อย่างไรก็ตาม วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากมาย เหลือเพียงแต่การคิดหาวิธีว่าจะขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้อย่างไรในทุกระดับชั้น ให้มีการร่วมมือกันโดยให้ยึดคติที่ว่า "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกระดับ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีกำลังที่เข้มแข็งสามารถเติบโตได้ ทำร่วมกันอย่างเป็นระบบ นำธุรกิจ SMEs กว่าล้านแห่งเข้ามาอยู่ในทะเบียนทำเนียบ SMEs ประเทศไทยให้ได้ ทำให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายสากล หาจุดเชื่อมต่อ สร้างสะพานที่เชื่อมโยงกันอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และมีธรรมาภิบาล ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและไว้ใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการในวันนี้คือ คิดวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจ โดยจะต้องยึดถือวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก อาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันจากทุกภาคส่วน สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตขึ้นก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ก็ต้องเดินหน้าปฏิรูปไปพร้อมกัน อุดหนุนเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ก็จะต้องดูแลบริษัทเล็ก ให้เติบโตไปพร้อมกันได้โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกมีปัญหาซึ่งเกิดมาจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง เราจึงจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนตนเอง สร้างความเข้มแข็ง อย่าเพียงแต่คิดแล้วไม่ดำเนินการ โดยสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วนทั่วทั้งประเทศ เดินหน้าขับเคลื่อนในทุกจังหวัด ทำให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างเป็นลำดับ จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ชัดเจน ร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้มีกลไกที่มั่นคง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ และประชาชน ให้ร่วมมือกันเป็นประชารัฐ มุ่งหน้าขับเคลื่อน โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักให้ได้ภายใน 20 ปี ขอให้คิดว่าประเทศเป็นของพวกเราทุกคน และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนต่อไป
ด้านนางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที ในฐานะเจ้าภาพหลักงาน Digital Thailand 2016 กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตในการพัฒนาเป็น Smart City จึงคัดเลือกจังหวัดภูเก็ตให้เป็นหนึ่งในสองจังหวัดที่เป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ด้านดิจิทัล คู่กับจังหวัดเชียงใหม่ โดยสนับสนุนการพัฒนาและวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การจัดทำโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ขยายจุดให้บริการฟรี Wi-fi 1,000 จุด การแก้ไขปัญหาจราจรโดยระบบเซนเซอร์อัจฉริยะ การจัดทำศูนย์ภูเก็ต สมาร์ท ซิตี้ อินโนเวชั่น (Phuket Smart City Innovation Park) เพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล (Super Cluster Digital) นอกจากนี้ยัง?ได้สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนภูเก็ตไปสู่ "Phuket Smart City 2020" ซึ่งการจัดงาน Startup Thailand & Digital Thailand 2016 ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเปิดตัวของ Phuket Smart City อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายผลสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศต่อไป