กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพลรถติด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้ง คนขับรถยนต์และคนโดยสาร คนเดินเท้า จำนวน 1,195 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13 - 16 กันยายน ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงระดับปัญหา รถติด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ระบุรถติดมาก ถึง มากที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 22.9 ระบุปานกลาง และร้อยละ 5.9 ระบุ รถติดน้อย ถึง ไม่ติดเลย และเมื่อสอบถามถึงสาเหตุของรถติด พบ 10 สาเหตุที่ทำให้รถติด ได้แก่ ไม่มีวินัย ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่ต่อคิว ตัดหน้า ชอบเบียด ชอบแทรก ร้อยละ 96.5 รองลงมาคือ ร้อยละ 92.9 ระบุนิสัยไม่ดีของคนขับรถ ทำตามกฎเฉพาะเวลามีตำรวจเฝ้าอยู่ ร้อยละ 91.9 ระบุ คนขับรถ เล่นไลน์ สูบบุหรี่ ใช้มือถือ
ในขณะที่ ร้อยละ 90.2 ระบุ ขับรถไม่มีน้ำใจ ไม่ให้ทางกัน ร้อยละ 78.3 ระบุ ตำรวจเลือกปฏิบัติ ไม่จัดการ ซูเปอร์คาร์ รถหรู จับแต่ปิ๊กอัพ แท๊กซี่ รถสามล้อ มอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 75.6 ระบุ ตำรวจไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง ร้อยละ 75.5 ระบุ ระบบ สอบใบขับขี่ และการลงโทษไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 73.3 ระบุ คนขับรถไม่มีความรู้จริงเรื่อง กฎจราจรและบทลงโทษ ร้อยละ 69.2 ระบุ ตำรวจไม่จับกุม คนขายของ ขอทาน บนถนน และร้อยละ 66.8 ระบุระบบ สัญญาไฟ ชำรุด ไม่ยอมซ่อม
ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อถามความเห็นต่อ การใช้มาตรา 44 จัดระเบียบจราจร พบว่า ก่ำกึ่งกันระหว่างผู้เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย โดยร้อยละ 50.9 เห็นด้วย เพราะจะทำให้คนมีวินัย เคารพกฎจราจร มากขึ้น โดยขอให้เป็นมาตรการเอาผิดได้ทั้งประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐและผู้บริหารที่เป็นต้นเหตุของปัญหารถติด เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน และการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ กับภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ในขณะที่ ร้อยละ 49.1 ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่น่าจะจัดระเบียบได้จริง จะยิ่งทำให้รถติดมากขึ้น เกิดความวุ่นวาย ขาดน้ำใจต่อกัน ไม่ยอมกัน ต่างคนต่างกลัวความผิด เกิดการเลือกปฏิบัติ และมาตรา 44 ไม่สามารถใช้ได้กับทุกปัญหา ปัญหารถแว้นยังแก้ไม่ได้ น่าจะใช้การ รณรงค์และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังต่อเนื่องมากกว่า ปัญหาอยู่ที่คนไม่ใช่ที่กฎหมาย เป็นต้น
เมื่อถามถึงความเห็นต่อ การเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้น และนำเงินมาแก้ปัญหารถติดและความปลอดภัยบนถนนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารเงินค่าปรับ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.7 เห็นด้วย แต่ร้อยละ 27.3 ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม บุคคลและหน่วยงานที่ประชาชนเห็นใจที่สุดในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาจราจร คือ อันดับที่หนึ่งได้แก่ ตำรวจจราจร ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือ ร้อยละ 31.2 ระบุ อาสาสมัครจราจร ในขณะที่ ร้อยละ 6.3 ระบุ ทหาร ร้อยละ 5.4 ระบุ กรุงเทพมหานคร และร้อยละ 3.3 ระบุ อื่นๆ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟ้ฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น