กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์
ประชาชน 54.02 ระบุทางเท้าในกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัย ขณะที่ปัญหาสำคัญที่พบบนทางเท้ามากที่สุดคือ มีต้นไม้/เสาไฟกีดขวาง มีหาบเร่แผงลอยกีดขวาง และมีรถจักรยานยนต์ขี่บนทางเท้า
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11 ถึง 16 กันยายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,183 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า บาทวิถีหรือทางเท้าคือสิ่งก่อสร้างที่ยกระดับให้สูงขึ้นมาจากพื้นถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คนใช้เดินสัญจรรวมถึงเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสถานที่ให้ออกจากถนนสาธารณะ โดยทั่วไปบาทวิถีจะต้องมีขนาดความกว้างที่เหมาะสม มีลักษณะเรียบ และไม่มีสิ่งกีดขวางใด เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คนที่ใช้เดินสัญจร แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่ใช้บาทวิถีหรือทางเท้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลับพบปัญหาต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็นลักษณะพื้นบาทวิถีที่ไม่เรียบหรือแคบเกินไป มีสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ หาบเร่แผงลอย รวมถึงการปลูกสิ่งก่อสร้างลุกล้ำพื้นที่บาทวิถี และการนำยานพาหนะส่วนตัวมาจอดกีดขวางหรือการขับขี่จักรยานยนต์บนบาทวิถี ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการใช้บาทวิถีเดินสัญจร ผู้คนในสังคมจึงเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่พบในการใช้บาทวิถีแต่ปัญหาต่างๆก็ยังคงไม่หมดไป จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งร้อยละ 50.63 เป็นเพศหญิง และมีเพศชายร้อยละ 49.37 อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการใช้บาทวิถีเดินสัญจรนั้น ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.65 ระบุว่าตนเองใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรเป็นประจำทุกวัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.84 ระบุว่าใช้แต่ไม่ทุกวัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.51 ระบุว่าไม่ได้ใช้เลย
ส่วนในด้านความคิดเห็นต่อลักษณะ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการใช้บาทวิถีเดินสัญจรนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.13 มีความคิดเห็นว่าขนาดความกว้างของบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีความเหมาะสมเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.36 มีความคิดเห็นว่ามีความกว้างที่เหมาะสมประมาณครึ่งหนึ่ง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.51 ระบุว่าส่วนใหญ่แคบเกินไป อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.41 มีความคิดเห็นว่าบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ไม่มีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจรไปมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.57 มีความคิดเห็นว่ามีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจรประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.02 ระบุว่าส่วนใหญ่มีความสะดวกสบายในการใช้เดินสัญจร ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.02 มีความคิดเห็นว่าบาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่ไม่มีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจรไปมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.81 มีความคิดเห็นว่ามีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจรประมาณครึ่งหนึ่ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 18.71 ระบุว่าส่วนใหญ่มีความปลอดภัยในการใช้เดินสัญจร
สำหรับปัญหาสำคัญ 5 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างพบในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเดินสัญจรมากที่สุดได้แก่ มีต้นไม้/เสาไฟฟ้า/โทรศัพท์กีดขวางคิดเป็นร้อยละ 84.78 มีหาบเร่แผงลอยขายอาหาร/สินค้ากีดขวางทางเดินคิดเป็นร้อยละ 83.26 มีรถจักรยานยนต์ขี่บนบาทวิถีคิดเป็นร้อยละ 81.23 มีป้ายโฆษณาต่างๆวางระเกะระกะคิดเป็นร้อยละ 78.95 และมีฝาท่อระบายน้ำเปิด/ปิดไม่สนิทคิดเป็นร้อยละ 76.84
ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆบนบาทวิถีนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.54 เห็นด้วยในการออกกฎหมายห้ามมิให้มีการขับขี่จักรยานยนต์บนบาทวิถี/ทางเท้าสาธารณะ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.06 มีความคิดเห็นว่าควรมีการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นกับผู้ที่ทำให้เกิดการกีดขวางบนบาทวิถี/ทางเท้า เช่น การจอดยานพาหนะ การวางป้ายโฆษณาต่างๆ การสร้าง/ต่อเติมอาคาร-พื้น-ทางเดิน แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.91 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆบนบาทวิถถี/ทางเท้ายังไม่เพียงพอ
ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อวิธีการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีระหว่างการห้ามมิให้หาบเร่แผงลอยตั้งบนบาทวิถีเลยกับการจำกัดแนวการตั้งหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีมิให้กีดขวางพื้นที่เดินสัญจร กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.49 เห้นด้วยกับการจำกัดแนวการตั้งหาบเร่แผงลอยบนบาทวิถีโดยมิให้กีดขวางพื้นที่เดินสัญจร ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.51 เห็นด้วยกับการห้ามให้หาบเร่แผงลอยตั้งบนบาทวิถีเลย
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.41 มีความคิดเห็นว่าหากมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรจะมีส่วนทำให้ผู้คนหันมาใช้การเดินไปทำกิจกรรมในสถานที่ใกล้เคียงแทนการใช้ยานพาหนะได้มากขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.27 มีความคิดเห็นว่าหากมีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการใช้บาทวิถี/ทางเท้าบนถนนสาธารณะเดินสัญจรจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้คนออกกำลังกายด้วยการเดิน/วิ่งมากขึ้นได้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว