กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 46.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 42.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 44.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 58.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่ท่าส่งออกสำคัญ 3แห่ง คาดว่าจะทำให้ลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในเดือน ต.ค. 59 ทั้งนี้ OPECรายงานลิเบียผลิตน้ำมันในเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ 0.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 2 แท่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 416 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 59
· Reuters คาดรัสเซียผลิตน้ำมันดิบของ ปี 59 เพิ่มขึ้น 2 % จากปีก่อน อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้บริษัทLukoil ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ประกาศเริ่มผลิตน้ำมันจากแหล่งใหม่ 2 แห่ง ปริมาณรวม 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปลายเดือนนี้
· สำนักพลังงานระหว่างประเทศ (IEA: International Energy Agency) ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 59 ลง 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์เดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 3/59 มีแนวโน้มชะลอตัว
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ท่อขนส่งที่สำคัญในสหรัฐฯ Colonial Line 1 ซึ่งลำเลียงน้ำมันสำเร็จรูป จากโรงกลั่นฝั่งอ่าว (USGC) สู่ตลาดภายในประเทศ ปิดดำเนินการ เนื่องจากเหตุท่อรั่วไหลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 59
· สำนักสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. 59 ลดลง 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 510.8 ล้านบาร์เรล
· สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 59 ลดลง 9.9 % YoY มาอยู่ที่ 3.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ลดกำลังการผลิตจากแหล่งที่มีต้นทุนสูง
· บริษัท Mckinsey ที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำคาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโก ในปี 60 จะลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 มาอยู่ที่ 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้เม็กซิโกผลิตน้ำมันสูงสุดในปี 47 อยู่ที่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากด้านสถานการณ์ในลิเบียพลิกผัน หลังกลุ่ม Libya National Army (LNA) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ที่ UN สนับสนุน กลับมาบุกยึดท่าส่งออกน้ำมันดิบ Ras Lanuf (200,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังจากในสัปดาห์ก่อน มีท่าทีให้ความร่วมมือเพื่อบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้ส่งออกน้ำมันได้ ส่งผลให้เรือบรรทุกน้ำมันดิบที่รับน้ำมันจากท่าดังกล่าว เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ต้องยุติการสูบถ่ายน้ำมันและจอดเรือรอในบริเวณที่ปลอดภัย แสดงถึงความไร้เสถียรภาพในลิเบีย ทำให้ผู้ซื้อขาดความมั่นใจ ว่า NOC จะส่งมอบน้ำมันดิบให้ได้หรือไม่ ประกอบกับประธานาธิบดีเวเนซูเอลา นาย Nicolas Maduro ให้สัมภาษณ์ว่าการเจรจาของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อหามาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกใกล้บรรลุผล ขณะที่ประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Hassan Rouhani ประกาศสนับสนุนแนวทางข้างต้น เพราะราคาน้ำมันดิบตกต่ำและมีความผันผวนไม่เป็นผลดีต่อผู้ผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตามท่อขนส่งที่สำคัญในสหรัฐฯ Colonial Line 1 กลับมาดำเนินการ และผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะ ให้จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee) หรือ FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. 59 จะบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจ สัปดาห์นี้ จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล WTI เคลื่อนไหวในกรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนส่งออก อาทิ CNOOC ของจีนออกประมูลขายGasoline 92 RON ปริมาณ 119 KB ส่งมอบวันที่ 11-13 ต.ค. 59 ทั้งนี้ CNOOC ส่งออก Gasoline เฉลี่ยเดือนละ 425,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.ย. 59 ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 11.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โรงกลั่นน้ำมัน Paradip (300,000 บาร์เรลต่อวัน) ในอินเดียของ Indian Oil Corp. (IOC) ยังคงปิดดำเนินการหน่วย RFCCหลังเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 โดยคาดว่าหน่วยดังกล่าวอาจจะใช้เวลากว่า 1 เดือนจะกลับมาดำเนินการตามปกติ และภูมิอากาศแปรปรวนในเอเชีย ทำให้ไม่สามารถจัดส่งน้ำมัน อาทิ ท่าเรือ Mailiao ของFormosa Petrochemical Corp. (FPC) และท่าเรือ Kaohsiung ของ CPC Corp. ในไต้หวันต้องปิดดำเนินการอย่างน้อย 2-3 วัน เนื่องจากถูกไต้ฝุ่น Meranti เข้าโจมตี ทั้งนี้ Meranti เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในโลกของปีนี้ (นับถึงปัจจุบัน) สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง จาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 0.67 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 15.33 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ อินเดียส่งออก อาทิ Essar Oil ออกประมูลขาย Gas Oil 0.05%S ปริมาณ 520,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบวันที่ 4 - 9 ต.ค. 59 และ IOC ออกประมูลขาย Gasoil 0.2 %S ปริมาณ 115,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 27-28 ก.ย. 59 และโรงกลั่นน้ำมัน Marifu (127,000 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่น ของ JX Nippon Oil & Energy Corp. กลับมาเปิดดำเนินการ อย่างไรก็ตามภูมิอากาศแปรปรวนในเอเชีย ทำให้ไม่สามารถจัดส่งน้ำมันเช่นกัน ประกอบกับ FPC ของไต้หวันซ่อมบำรุงโรงกลั่น Mailiao (540,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยปิดดำเนินการหน่วย Residue Desulphuriser (RDS: 80,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ 16 ก.ย. 59 เป็นเวลาประมาณ 40 วัน ทำให้อัตราเดินเครื่องในเดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52-57เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล