กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (28 ก.ย.43) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมซักซ้อมข้อปฏิบัติราชการกับเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร ทั้งนี้เพื่อกำชับและสานต่อเกี่ยวกับนโยบายและงานของกรุงเทพมหานคร โดยมีรองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการเขต รวมทั้งข้าราชการที่ครบเกษียณอายุราชการปี 2543 จำนวนหนึ่ง เข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐ ฝากข้อคิดว่า ในการที่ต้องจากไปเพราะครบเกษียณอายุราชการ ตนคิดอยู่ตลอดเวลาว่า วิถีชีวิตคนเราต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้การที่ได้มีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ก่อนนั้นเป็นเรื่องที่ดีเพราะตั้งแต่นี้จะต้องเบนไปทำอะไรที่เราคิดไม่ถึง บางทีไปแล้วก็อาจคิดว่าน่าจะมาทำตั้งนานแล้ว อย่างไรก็ดีตนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนับเป็นสิ่งที่ดี อย่างเช่นการสับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่ หากมีการถามว่าเป็นห่วงเป็นกังวลกับงานที่เคยทำ ก็ตอบได้ว่าคนทำงานกับกทม.มานาน เห็นอะไรมาตั้งแต่เริ่มต้นก็อดนึกห่วงบ้างไม่ได้ ซึ่งหลังจากเกษียณอายุราชการ ตนยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร ยังเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นศิษย์เก่ากทม. ยินดีรับปรึกษาหารือกับทุกคนในลักษณะให้แนวคิดสร้างสรรค์ แต่จะไม่ก้าวก่ายการบริหารงาน นี่เป็นกติกาที่ตัวเองยึดถือมา คือ ต้องรู้ว่า ตนควรมีจุดยืนอยู่ตรงไหน
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.43 ที่ผ่านมา ตนได้ไปประชุมข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ได้พูดคุยกันก่อนเข้าที่ประชุมว่า ภาระของบ้านเมืองมีมาก และหากยิ่งมากเท่าไร ผู้ที่ทำงานก็ทำงานลำบากมากขึ้นเท่านั้น หลายคนสอบถามว่าควรจะทำงานอย่างไร จึงจะเหมาะสม จึงจะดี ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ตนเป็นห่วงข้าราชการกทม.เช่นเดียวกัน จึงอยากให้เพื่อนข้าราชการระลึกอยู่เสมอว่า ขอให้มีความสามัคคี มีความปรองดอง ให้ความร่วมมือ อย่าชิงดีชิงเด่นแล้วอย่ามีการเล่นนอกระบบ ขอให้มองทุกคนในแง่ดี และมุ่งมั่นทำงานจะทำให้ใจเราสบาย งานก็บรรลุผล
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่เราทำงาน หากเรายึดหลักการ 4 ข้อ ก็จะมีความมั่นคง กล่าวคือ ประการแรก ขอให้มีความสามัคคี ประการที่สอง ขอให้เราอย่านิ่งดูดาย อะไรทำได้ก็ทำทั้งที่ไม่ใช้หน้าที่ของเรา เราจะเป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้พบเห็น ประการที่สาม ขอให้มีความจริงใจทำงานด้วยใจ จะเป็นการปกป้องเราไม่ให้ผิดพลาด เพราะเราทำอะไรต้องคิด คือ เมื่อทำแล้วมีคำอธิบายได้ และประการสุดท้าย ต้องมีความอดทน อดกลั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ และเมื่อมีการอดทนแล้วหากคิดว่าจะอดทนไปจนถึงเมื่อไร อย่างนี้ใจเราก็แย่ วิธีแก้ตัวเราคือต้องให้อภัยกับทุกคน นอกจากนี้ในส่วนตัวของข้าราชการแต่ละท่านขอให้อย่าละเลยในการดูแลสุขภาพร่างกาย และใจควบคู่กันไปด้วย --จบ--
-นศ-