กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร ทั้งภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยการผลิต หรือกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อราคาจำหน่าย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสู่ความเสี่ยงซึ่งอาจส่งผลสู่ความล้มเหลวในวิถีเกษตร และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสถานะความเป็นอยู่ของตนเอง สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติในภาพรวม ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมกับปรับตัวและพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จอย่างมั่นคง
"วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในขณะนี้ เกษตรกรต้องมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไรที่ส่งผลต่อความเสี่ยงสู่ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติ กลไกทางการตลาดล้วนแล้วเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องยอมรับและทำความเข้าใจสู่การหาหนทางในการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งเพื่อความอยู่รอด ซึ่งระบบบัญชีจะทำให้เกษตรกร สามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข การต่อยอดโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลทางบัญชีที่จดบันทึกไว้ มาวิเคราะห์วางแผนการการผลิตในภาคการเกษตรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทางการเกษตรอย่างสมดุล ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งนอกจากจะสามารถทำการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้แล้ว ยังสามารถนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตอย่างดิน น้ำ และปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน" ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน นายสมปอง อินทร์ทอง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการในการส่งเสริมองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกรโดยผ่านสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทั่วประเทศและเครือข่ายครูบัญชีอาสา เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างเหมาะสม สมดุล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำการเกษตรได้มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยนำระบบบัญชีมาเป็นคู่มือในการพัฒนาตนเองจากเกษตรกรทั่วไป ขึ้นเป็นนักเกษตรยุคใหม่หรือผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่คิดเป็นระบบสู่การวางแผน การผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการต่อยอดโอกาส เป็นผู้บริหารจัดการการเกษตรอย่างครบวงจรด้วยระบบบัญชี