กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (19 ก.ย. 59) เวลา 10.30 น. ที่บริเวณโถง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพาน กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม แก่ผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556 - 2557 (ชีวิตและร่างกาย) ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ฯ และครอบครัวสามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐได้โดยทั่วถึง
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความมุ่งหวังในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และลดความขัดแย้งในสังคมไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556 - 2557 (ชีวิตและร่างกาย) ซึ่งกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้เปิดรับคำร้องจากผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 17 มีนาคม 2559 มีจำนวนผู้ยื่นคำร้อง จำนวนทั้งสิ้น 820 คน โดยยื่นที่ส่วนกลาง จำนวน 577 คน และยื่นที่ภูมิภาค จำนวน 243 คน แบ่งเป็นระดับความเสียหาย คือ เสียชีวิต จำนวน 46 คน ทุพพลภาพ จำนวน 23 คน บาดเจ็บสาหัส จำนวน 97 คน บาดเจ็บ จำนวน 251 คน บาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 403 คน และได้ดำเนินการมอบเงินเยียวยา ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 จำนวน 125 คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556- 2557 (ชีวิตและร่างกาย) ที่ผ่านการพิจารณารอบ 2 รวมทั้งสิ้น 176 คน แบ่งเป็นเงินเยียวยากรณีเสียชีวิต จำนวน 2 คน ทุพพลภาพ จำนวน 4 คน บาดเจ็บสาหัส จำนวน 77 คน บาดเจ็บ จำนวน 36 คน บาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 57 คน รวมเงินช่วยเหลือจำนวน 11,253,148 บาท (สิบเอ็ดล้านสองแสนห้าหมื่นสามพันหนึ่งร้อยสี่สิบแปดบาทถ้วน) สำหรับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยา ด้านการเงินตามหลักมนุษย์ธรรม ประกอบด้วย
- กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยารายละ 400,000 บาท
- กรณีทุพพลภาพรายละ 200,000 บาท
- กรณีทุพพลภาพและต้องฟื้นฟูสมรรถภาพรายละ 200,000 บาท
- กรณีบาดเจ็บสาหัส (เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและนอนเป็นผู้ป่วยในเกิน 20 วัน หรือแพทย์มีความเห็นว่าจะต้องได้รับการรักษาตามปกติเป็นเวลาเกิน 20 วัน) รายละ 100,000 บาท
- บาดเจ็บ (เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นผู้ป่วยในไม่เกิน ๒๐ วัน)รายละ ๖๐,๐๐๐ บาท
- บาดเจ็บเล็กน้อย (เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยใน) รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท
"ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-659-6536 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร 1300 และที่เว็บไซต์ www.dsdw.go.th" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย