กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--ส.อ.ท.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ผนึกกำลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง "ความร่วมมือด้านการมาตรฐาน ระหว่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 230 อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เดินหน้าส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพ พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางสากล
นายธวัช ผลความดี เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีฐานะเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่ประสานความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) โดยมีภารกิจหลักในการกำหนดมาตรฐาน และให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น ด้วยการอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในทางการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานของประเทศ และเนื่องจากกิจกรรมด้านการมาตรฐานมีความหลากหลายและมีขอบข่ายกว้าง จึงจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก ซึ่งแต่ละหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ดังนั้น การพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศไทย จึงพิจารณาถึงความจำเป็นและความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดระบบให้เหมาะสมกับความจำเป็นของประเทศ โดยแนวทางในการพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศไทยที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบรับรอง และมาตรวิทยา ด้วยการสร้างเครือข่าย โดยที่ผ่านมา สมอ. ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 34 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันอาหาร สมาคมวิชาชีพ หน่วยงานราชการ รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างไรก็ตาม การลงนามครั้งนี้นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ สมอ. จะร่วมมือด้านการมาตรฐาน กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่ง และมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันได้ในระดับสากล ตลอดจนสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในประเทศ ให้มีความปลอดภัยพร้อมไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ
"ในส่วนของพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง "ความร่วมมือด้านการมาตรฐาน ระหว่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" นั้น บทบาทและหน้าที่ของ สมอ. ในด้านกิจกรรมการกำหนดมาตรฐาน คือ จะให้ความร่วมมือในการส่งเจ้าหน้าที่ของ สมอ. เข้าร่วมเป็นกรรมการในการจัดทำร่างมาตรฐานของ ส.อ.ท. และส่งเสริมให้ ส.อ.ท. จัดทำร่างมาตรฐาน เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมถึงให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ด้านกิจกรรมการตรวจสอบและรับรอง สมอ. จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ส.อ.ท. มีการจัดระบบการตรวจสอบและรับรองให้เป็นที่ยอมรับและสอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความสามารถในกระบวนการตรวจสอบและรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางสากล ส่วนกิจกรรมการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม ส.อ.ท. ให้มีบทบาทในการเข้าร่วมกิจกรรมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศและพิจารณาให้ข้อคิดเห็นเอกสารมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยจะมอบหมายเจ้าหน้าที่ของ สมอ. ช่วยประสานให้การดำเนินงานกับองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ สำหรับการดำเนินงานด้านกิจกรรมการส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน สมอ. จะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนให้ ส.อ.ท. ร่วมเป็นศูนย์ประสานงาน เพื่อเผยแพร่มาตรฐาน กฎระเบียบทางวิชาการและกิจกรรม และโครงการด้านการมาตรฐานให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความเข้าใจในกิจกรรมด้านการมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากิจกรรมด้านการมาตรฐานร่วมกับ สมอ. และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านการมาตรฐานในสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลมาตรฐานแก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการบริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อไป" นายธวัช กล่าว
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานระบบการจัดการ และมาตรฐานระบบการบริหารงานคุณภาพ (ISO) เป็นต้น ซึ่งการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับการใช้งาน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเมื่อมีผลิตภัณฑ์ในประเทศที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้การยอมรับเชื่อถือ และมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ของไทยตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่นอกจากจะทำให้สินค้าไทย มีคุณภาพในตลาดโลกแล้ว ยังสามารถใช้เป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้าและบริการที่ไม่ได้รับมาตรฐานที่เข้ามาตีตลาดในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งในหลายประเทศมีการนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์มาควบคุมสินค้านำเข้าในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ส่งผลให้งานมาตรฐานเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) อย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตมีความจำเป็นที่จะต้อง ขอใช้เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตเอง และเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยใช้หลักฐานของทางราชการเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองนั้นมีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ การมีมาตรฐานจึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการค้าที่ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค มีความเข้าใจที่ตรงกัน และที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมประเทศอีกด้วย
"สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีมาตรฐานมาโดยตลอด ผ่านการเร่งผลักดัน พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานสินค้า ผ่านการขับเคลื่อนการสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ตลอดจนเป็นแกนนำร่วมกับภาคเอกชน มุ่งเน้นให้มีการกำหนดมาตรฐานและสร้างมาตรฐานสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ มาตรฐานในการผลิตสินค้าถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Improvement) และลดความสูญเปล่าจากกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าที่จะนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Industry 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมโยงด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฏระเบียบ (Infrastructures) ส่งเสริมพัฒนาการให้บริการอุตสาหกรรม (Supply Side) แหล่งสนับสนุนเงินทุนแก่ SMEs (Funding) และการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าถึงระบบ Automation และ ICT (Demand Side) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของสภาอุตสาหกรรมฯ ในวาระปัจจุบัน" นายเจน กล่าว
นายเจน ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้านการมาตรฐาน ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการผนึกกำลังในการส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีศักยภาพ และมีขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นไปด้วยความมั่นคงและยั่งยืน และยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นไปตามแนวทางสากล ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ระหว่าง สมอ.และ ส.อ.ท. จึงได้ลงนามร่วมกันเพื่อดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือในกิจกรรมด้านการมาตรฐาน เพื่อพัฒนาระบบการมาตรฐานของประเทศ ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบและรับรอง การมาตรฐานระหว่างประเทศและการส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน เป็นต้น
"ภายใต้ความร่วมมือด้านการมาตรฐานดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะดำเนินการด้าน การกำหนดมาตรฐาน ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำร่างมาตรฐาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ สมอ. ร่วมเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของ ส.อ.ท. เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งจะให้ความร่วมมือในการจัดทำร่างมาตรฐานให้ สมอ. เพื่อดำเนินการจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และจะมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำร่างมาตรฐานเข้าร่วมประชุมชี้แจงในคณะกรรมการพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของ สมอ. เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ด้านกิจกรรมการตรวจสอบและรับรอง ส.อ.ท. จะดำเนินการจัดทำระบบการตรวจสอบและรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรของ ส.อ.ท. ให้มีความรู้ความสามารถในกระบวนการตรวจสอบและรับรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางสากล ส่วนกิจกรรมการมาตรฐานระหว่างประเทศ ส.อ.ท.
จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อคิดเห็นเอกสารมาตรฐานระหว่างประเทศ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนเจ้าหน้าที่ประสานงานและแจ้งข้อคิดเห็นให้กับ สมอ. กิจกรรมการส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาระบบการมาตรฐาน จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนส่งเสริมการเผยแพร่และพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นเอกภาพ โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และโครงการด้านการมาตรฐาน รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการเข้าร่วมดำเนินภารกิจด้านการมาตรฐานร่วมกับ สมอ. โดย ส.อ.ท. จะให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ ส.อ.ท. เชี่ยวชาญให้กับกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มผู้ปฏิบัติการ และกลุ่มผู้ตรวจสอบ / ตรวจประเมินของ สมอ. และจะให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านการมาตรฐานในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงฐานข้อมูลมาตรฐาน แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดบริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกด้วย" นายเจน กล่าว