เผยชื่อ 98 ผลิตภัณฑ์เสี่ยงวัวบ้าเตือนเศรษฐีไทยระวังสมองฝ่อ

ข่าวทั่วไป Monday March 5, 2001 13:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--อย.
เผยรายชื่อผลิตภัณฑ์อาหารเสี่ยงโรควัวบ้า 98 ชนิด อ.ย.สั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายเด็ดขาด ล่าสุดพบซุปเนื้อวัวเข้มข้นยี่ห้อ "โบว์ริล" จากอังกฤษลักลอบเข้ามาจำหน่ายหลังห้ามตั้งแต่ปี 2539 ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข่าวการส่งอาหารสัตว์จากอังกฤษในช่วงที่เกิดโรคเมื่อปี 2542
จากกรณีที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalopathy หรือ BSE) ในหลายประเทศแถบยุโรป และกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศสั่งห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ จากวัว ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดโรควัวบ้าจำนวน 13 ประเทศแล้วนั้น น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยมาตรการล่าสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดว่า สำนักคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.) ได้ตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์อาหารที่เคยได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศดังกล่าว แต่ขณะนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่อยู่ในข่ายห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย รวมทั้งหมดจำนวน 98 ชนิด โดยแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์จากอังกฤษ 10 ชนิด เดนมาร์ก 9 ชนิด เยอรมนี 10 ชนิด ไอร์ แลนด์ 28 ชนิด เนเธอร์แลนด์ 24 ชนิด เบลเยี่ยม 2 ชนิด ฝรั่งเศส 9 ชนิด และอิตาลี 5 ชนิด ยกตัวอย่างเช่น เนื้อสันในวัวแช่แข็ง ของบริษัท DALGETY LONSDALE ไส้กรอกเวียนนา ชนิดไก่และเนื้อวัวของพลัมโรส ไส้กรอกเนื้อตราทิวลิป เนื้อวัวบดปรุงรสตราดัก พร้อมทั้งเตือนผู้นำหรือสั่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร โปรดอย่านำเข้าผลิต ภัณฑ์ดังกล่าวมิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จำหน่ายทั้งร้านค้าย่อยและห้างสรรพสินค้า ขอให้ตรวจสอบสินค้าในร้านของตนอย่าให้มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าววางจำหน่าย มิฉะนั้น จะมีความผิดตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้บริโภค ควรอ่านฉลากให้ถี่ถ้วน ระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมา บริโภคและหากพบเห็นการจำหน่ายที่ใด โปรดแจ้งหรือร้องเรียนมายัง อ.ย.โทร.590-7345-5 หรือฝากข้อความโดยละเอียดที่สายด่วนผู้บริโภคกับ อ.ย. โทร.1556 กดต่อ 1005 เพื่ออ.ย.จะได้ดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ