กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น
ทีซีเอส จับมือพันธมิตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเนคเทค ระดมทัพนักวิชาการและผู้ผลิตอุปกรณ์ชั้นนำระดับโลกจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการด้านระบบเครือข่ายครั้งใหญ่ NETDAY 2000' 1—2 พ.ย. นี้ คาดหวังเป็นเวทีในการตอบสนองและคืนกำไรสังคม ด้วยการมอบความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบเครือข่ายในรูปแบบวิชาการ ม.เกษตรชี้ไฮไลต์ NETDAY 2000 อยู่ภายใต้แนวคิด The Next Generation Network ด้านเนคเทคเตรียมเสนอ 4 หัวข้อหวังช่วยกระตุ้นตลาดอินเทอร์เน็ตไทยตื่นตัวเพิ่มสูงขึ้น
วิทยา สุวัฒนาธรรมกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (ทีซีเอส) ผู้นำในการให้บริการและติดตั้งระบบเครือข่าย หนึ่งในกลุ่มบริษัทซีดีจี เปิดเผยถึงการจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการ และนิทรรศการทางด้านระบบเครือข่ายครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่องาน "NETDAY 2000" ว่า ทีซีเอสและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ริเริ่มการจัดงานสัมมนาทางด้านเทคโนโลยีระบบเครือข่ายเมื่อปีที่ผ่านมา และได้จัดต่อเนื่องมาทุกปี เพื่อมุ่งตอบสนองและคืนกำไรสังคมด้วยการมอบความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบเครือข่ายในรูปแบบวิชาการและชี้ให้เห็นถึงแนวทาง รวมถึงการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยการนำระบบเครือข่ายไปปรับใช้ โดยในปีนี้ใช้ชื่อว่า The Next Generation Network ประกอบไปด้วยหัวข้อสัมมนาวิชาการกว่า 30 หัวข้อ ตลอดระยะเวลา 2 วันคือ วันที่ 1 — 2 พฤศจิกายน 2543 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
"ปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้เรียนปรึกษาถึงแนวทางการจัดงานด้าน Network ร่วมกับรศ.ยืน ภู่วรวรรณ ซึ่งปรากฎว่ามีความต้องการตรงกัน ดังนั้น ทีซีเอสกับม.เกษตรจึงได้ร่วมกันจัดงาน "NETDAY' 99" ขึ้น โดยถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐสำหรับการจัดงานสัมมนาและนิทรรศการ ซึ่งหลังจากการจัดงานปีที่แล้วก็ได้วางนโยบายที่จะจัดต่อเนื่องกันทุกปี และในปีนี้ได้เชิญศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้ร่วมจัดด้วย โดยคาดว่า NECTEC จะมีส่วนในการเสริมสร้างงานสัมมนาและนิทรรศการครั้งนี้ให้มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น” นายวิทยากล่าว
ทั้งนี้ งาน "NETDAY 2000" จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีทางด้านเครือข่ายและไอทีที่จัดเป็น State of the art, นำเสนอแนวคิดและวิธีการในเรื่องการประยุกต์เครือข่ายให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย, ชี้ให้เห็นผลกระทบและชี้นำในเรื่องบทบาทและความสำคัญของเครือข่ายคอมพิวเตอ์ที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงแสดง ตัวอย่างการปรับใช้เทคโนโลยีเครือข่ายที่เหมาะสม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิด และเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้สนในในการประยุกต์ใช้ อีกทั้งเป็นการประกาศถึงศักยภาพของทีซีเอสในการเป็นผู้นำในวงการอุปกรณ์ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และตอบแทนสังคม รวมทั้งผู้ใช้บริการ สำหรับส่วนของงานสัมมนาเชิงวิชาการนั้นประกอบไปด้วยหัวข้อทางด้านเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่ทันสมัย อาทิ อินเทอร์เน็ตทู, เทคโนโลยี w@p , เทคโนโลยีเว็บแคช, การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์, สถานะอินเทอร์เน็ตในประเทศ : มุ่งสู่จิกะป๊อป, การพัฒนาระบบสารสนเทศระดับองค์กรด้วยเทคโนโลยี J2EE เป็นต้น
โดยได้เชิญนักวิชาการชื่อดังมาร่วมเป็นวิทยากร อาทิ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ NECTEC, รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, อ.จารุมาตร ปิ่นทอง ผู้ออกแบบเครือข่าย IP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สมนึก คีรีโต รวมถึงวิทยากรจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น 3Com, Cisco, Cabletron, Nortel, IBM, Siemon, Allied Telesyn ฯลฯ
ทางด้านนิทรรศการนั้นประกอบไปด้วย พันธมิตรรายใหญ่ของทีซีเอส ได้แก่, ม.เกษตร, 3Com, NECTEC , สมาคมเครือข่ายสารสนเทศ (INA), UBT, Tyco, เทเลคอมเอเชีย, ซิสโก้, Allied telesyn และ ทีซีเอสเป็นต้น
"ปีที่แล้วประสบความสำเร็จมาก มีคนร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการประมาณ 900 คน โดยในปีนี้เราคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการมากกว่าเดิม เฉพาะในส่วนสัมมนานั้นแม้ว่า หัวข้อจะเป็นที่น่าสนใจและเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม แต่ก็ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าฟังสัมมนาได้เกิน 700 คน ดังนั้นผู้สนใจได้โปรดรีบติดต่อสำรองที่นั่งล่วงหน้าโดยด่วน" นายวิทยากล่าว
แนวคิด The Next Generation Network
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการจัดงาน ‘NETDAY ’ 99’ ครั้งแรกร่วมกับทีซีเอสในปีที่ผ่านมา และสำหรับการจัดงานครั้งที่ 2 นี้ ก็จะมีองค์กรร่วมจัดเพิ่มขึ้นอีก 1 องค์กร คือ NECTEC โดยไฮไลต์ของงานจะอยู่ที่การสัมมนาเชิงวิชาการในหลากหลายหัวข้อภายใต้แนวคิด The Next Generation Network เริ่มตั้งแต่เทคโนโลยี FIBRE OPTIC (Optical Network Technology) ไปจนถึงเทคโนโลยี WDM (Wave length Division Multiplex) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี SDH (SDH and Information Super Highway) และ xDSL Technology ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวของเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคต่อไป ตลอดจนถึงการแสดงเทคโนโลยีเครือข่ายในรูปของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วย
สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำเสนอ ในเรื่องของ Internet Applications ประกอบไปด้วย Large Scale Web Site : Technology and Architecture, WAP Application และ DHTML ส่วนเรื่อง Content base Technology ประกอบไปด้วย eXtensible Markup Language (XML), ความเป็นเอกภาพของข้อมูลและแนวทางการพัฒนา eOffice, eGovernment, eLearning และ eLibrary
เพื่อให้เหมาะสมกับยุค eGeneration ในปัจจุบัน ที่สังคมไทยกำลังมีการตื่นตัวกันมาก ทั้ง eCommerce eBusiness ทำให้การติดต่อสื่อสารกันภายใต้สังคมและวัฒนธรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุค eGeneration หรือ e Thailand ซึ่งการสัมมนาในงาน "NETDAY 2000" นี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้เรียนรู้ถึง eStrategies for eBusiness ตลอดจนเรื่องของ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e Signature) รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยของระบบ (Network Security and Management)
"ในอนาคตนี้เทคโนโลยีเครือข่ายจะมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้น เพราะเครือข่ายทำให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างเสรีและไร้พรมแดน ดังนั้นจึงอยากจะให้คนไทยได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวโน้มทิศทางของเทคโนโลยีเครือข่าย และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายมากที่สุด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคม" รศ.ยืนกล่าว
NECTEC เตรียมเสนอ 4 หัวข้อ
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ นักวิจัย 1 โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ห้องปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (NTL) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ที่ทางเนคเทคเข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมจัด "NETDAY 2000" ในครั้งนี้ว่า ต้องการให้มีการตื่นตัวในเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมากขึ้น เพราะในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสูงขึ้น ทั้งในภาคการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นในงาน "NETDAY 2000" ครั้งนี้ NECTEC จะได้นำเสนอใน 4 หัวข้อหลักด้วยกันคือ
Network Security ซึ่งจะเป็นการให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของระบบ เพราะขณะนี้มีการละเมิดข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ดังนั้นจะมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนคเทคจะนำเสนอถึงความรู้พื้นฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย Thailand Internet Policy โดย NECTEC จะให้ข้อมูลถึงนโยบายและแผนแม่บททางด้านอินเทอร์เน็ต ที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ทิศทางว่าจะพัฒนาและเติบโตไปในทิศทางอย่างไร กฎหมาย IT ทั้ง 6 ฉบับ โดยจะกล่าวถึงรายละเอียดเบื้องต้นของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ และเป็นการสื่อให้รู้ว่า กฎหมาย IT มีความจำเป็นอย่างไร และคนไทยจะได้อะไรจากกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ Digital Signature เนื่องจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น นับเป็นพื้นฐานสำคัญของความปลอดภัยเบื้องต้นของข้อมูลในการยืนยันตัวตนของผู้ส่ง e-mail หรือ การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต (eCommerce) "ถึงแม้อินเทอร์เน็ต เป็นสื่อที่ทำให้การสื่อสารในโลกนี้รวดเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันการยืนยันข้อมูลในอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญด้วยส่วนเรื่องอีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะจุดพื้นฐาน คือจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังน้อยมาก แต่เชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะมีการขยายเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น" ดร.โกเมนกล่าว--จบ--
-สส-