กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ มกอช. บูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ขับเคลื่อนโครงการรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพภายใต้เครื่องหมาย Q อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีตลาดสดและแผง/ร้านค้าได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q จำนวน 457 แผง/ร้านค้า ใน 21ตลาด ได้แก่ ตลาดอ่อนนุช (เหนือ) ตลาดอ่อนนุช (ใต้) ตลาดเอี่ยมสมบัติ ตลาด
นครไทย ตลาดทรัพย์จันผัน (ลาดพร้าวสะพาน2) ตลาดกลางแฮปปี้แลนด์ ตลาดสัมมากร ตลาดสดมีนบุรี1 ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี ตลาดเงินวิจิตร ตลาดวงเวียนใหญ่ ตลาดบางขุนศรี ตลาด อ.ต.ก. ตลาดพงษ์เพชร ตลาดสามย่าน ตลาดไท ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดวัฒนานันท์ ตลาดอมรพันธ์ ตลาดใหม่ทุ่งครุ และตลาดศิริชัย ซึ่งมีอายุการรับรอง 3 ปี
จากการดำเนินโครงการดังกล่าว พบว่า เจ้าของแผง/ร้านค้า ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดสดต่างๆ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักสินค้า Q แพร่หลายมากนัก ทำให้มีสินค้า Q วางจำหน่ายในตลาดสดน้อยมาก มกอช.จึงได้มีแผนเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคและผู้จำหน่ายในตลาดสดมีความรู้ความเข้าใจในเครื่องหมายรับรอง Q และรู้จักสินค้า Q มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เจ้าของแผง/ร้านค้าจัดหาสินค้า Q มาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและหาซื้อสินค้า Q ได้อย่างสะดวก ส่งผลให้สินค้า Q เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
"แหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานภายใต้เครื่องหมาย Q ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค นอกจากนั้น สินค้า Q ยังมีความปลอดภัยสูงกว่าสินค้าทั่วไป ทำให้สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยดีขึ้น ดังนั้น การเลือกซื้อสินค้าเกษตรและอาหารครั้งถัดไป ทั้งพืชผัก ผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าสัตว์น้ำ ควรเลือกสินค้าที่มีตรารับรอง Qสีเขียว ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่า สินค้า Q มีคุณภาพและมีความปลอดภัยแน่นอน" รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
นายพิศาลกล่าวด้วยว่า อนาคตหากสินค้า Q เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น คาดว่า จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรภายใต้เครื่องหมาย Q เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัยขยายตัวกว้าง ทั้งยังทำให้มีแหล่งจำหน่ายสินค้า Q เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและทำให้ยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยด้านอาหารหรือฟู้ดเซฟตี้ (Food Safety) ของประเทศมีความเข้มแข็งและขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ