กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ใกล้กำหนดส่งมอบในวันที่ 26 กย. 59 ภารกิจเพื่อแม่น้ำและประชาชนของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ดำเนินการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม.พัฒนาแนวความคิดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและการเชื่อมต่อให้เข้าถึงด้วยทางเดินตลอดสองฝั่งแม่น้ำ และในวันนี้ผู้นำสององค์กร นายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดงานล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเวทีเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน...ทุกคนเพื่อเจ้าพระยา " โดยมีรศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และคณะบริหารโครงการ พร้อมด้วย คุณวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาร่วมเวทีด้วย เปิดมุมมองอนาคตของแม่น้ำของทุกคน และพร้อมผนึกความร่วมมือสร้างการเชื่อมโยงแผนพัฒนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ในช่วงแรก นายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร คลี่คลายคำถามที่ว่า มองเห็นปัญหาของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไร ทำไมกทม.จึงต้องพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เร่งรีบไปไหม กล่าวว่า คนไทยเราตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักของประเทศ เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต สร้างความอุดมสมบูรณ์และเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากอดีตสู่ปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานครมีระยะทางยาวรวม 57 กม เป็นเส้นทางคมนาคมจากภาคเหนือเชื่อมต่อจากนนทบุรี สู่สมุทรปราการ เชื่อมโยงสังคมและมรดกทางวัฒนธรรม เพราะสองฟากฝั่งแม่น้ำ มีคูคลองแยกย่อยเป็นกิ่งก้านสาขา เป็นที่ตั้งถิ่นฐานย่านชุมชนตามประวัติศาสตร์ มีวัด วัง สถานที่ราชการ ตลาด แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย ต้องยอมรับว่า ขณะที่ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชุมชนเก่าแก่มีวัฒนธรรมวิถีไทยเฉพาะตัวริมฝั่งเจ้าพระยา แทรกตัวอยู่ท่ามกลางการเติบโตของเมืองอยู่อย่างเงียบๆ บางแห่งเหมือนถูกละเลยให้ทรุดโทรมลงไปมาก มีปัญหาที่เราต้องร่วมกันเดินหน้าแก้ไข เช่น เส้นทางเดินเท้าบางพื้นที่เป็นชุมชนเก่าดั้งเดิมคับแคบ พื้นที่สาธารณะถูกปิดกั้น ด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนสถานที่สำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เคียงคู่กับชุมชนและประเทศ เพราะเราต้องการให้การพัฒนาครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือในทุกมิติ มีการรับฟังเสียงของทุกฝ่าย และมีการวางแผนออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ สจล.และ มข. เป็นที่ปรึกษาโครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกทม. ระยะทางยาวรวม 57 กม. รวมถีงจัดทำโครงการนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความชัดเจนของการทำงานจะครอบคลุมถึง การสำรวจพื้นที่ ฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชน ออกแบบ และจัดทำแผนงานที่จะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นเป็นจริงได้
ในด้านการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย เรามีนักท่องเที่ยวมาเยือนกรุงเทพปีละเกือบ 20 ล้านคน ถ้าเราสามารถจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีมากมายสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ก็จะกระจายรายได้สู่ประชาชนในชุมชน สร้างความหลากหลายในแหล่งท่องเที่ยว ความเจริญก็จะทั่วถึง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ด้านวิสัยทัศน์ของในการทำโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา อยู่ภายใต้แนวคิด "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน" (Chao Phraya for All) เราเน้นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนา การปฏิรูปและฟื้นฟูพื้นที่ริมเจ้าพระยาครั้งใหญ่ โดยฟังความคิดเห็นของ 34 ชุมชนที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน ในอนาคตอันใกล้นี้พี่น้องประชาชนจะได้มีส่วนร่วมและมีประสบการณ์กับการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ในทุกมิติ ได้แก่โครงการจะอนุรักษ์ฟื้นฟูกรุงรัตนโกสินทร์ 3 ด้าน คือ เมือง แม่น้ำ และมรดกแห่งภูมิปัญญาที่มีชีวิต, สืบสานของดีที่ชุมชนมีอยู่ หรือที่จะสูญหายไปนำกลับมาประยุกต์ใช้ เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ทางเดิน และทางจักรยาน รวมทั้งพื้นที่สาธารณะ, ลานกีฬา สวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ชุมชน
โครงการนี้เราไม่ได้สร้างถนนให้รถยนต์วิ่ง เราทำทางเดินและทางจักรยานที่ไม่ได้สูง หรือเป็นsuperstructure และไม่ได้ทำกำแพงเขื่อนสูงริมเจ้าพระยา อย่างที่เคยมีภาพจากผู้ที่ไม่ได้มีส่วนในการศึกษาโครงการพยายามเผยแพร่ และสื่อสารในสื่อต่างๆ แต่เราจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะและทางเดินเพื่อประชาชนให้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ต่อเนื่อง โดยผ่านชุมชนต่างๆ และเป็นการใช้ศักยภาพการลงทุนพัฒนาของภาครัฐ โดยมีภาคการศึกษาคือมหาวิทยาลัยเข้ามาเสริม ที่สำคัญคณะที่ปรึกษาได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบให้การลงทุนก่อสร้างแผนงานในอนาคตมีความคุ้มค่าทางเศษฐกิจ สวยงามมีอารยสถาปัตย์ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทย โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากร และคณโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการศึกษาแง่มุมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรม
ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการ 210 วัน ทีมที่ปรึกษาได้การดำเนินงานสำรวจพื้นที่ ได้ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท 12 แผนงานที่จะทำให้เกิดความสวยงามมีระเบียบให้ทุกคนเข้าริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกขึ้นเพิ่มพี้นที่สีเขียวให้ชุมชนและประชาชน กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศิลปะไม่แพ้เวนิส ริมฝั่งเจ้าพระยาจะสร้างแรงบันดาลใจแห่งงานศิลป์ จิตรกรจะได้มานั่งวาดรูป เด็กๆ มาเล่นดนตรี ร้องเพลง ประสานเสียงกับสายน้ำ หากคนกรุงเทพฯ และคนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงเจ้าพระยาอย่างเท่าเทียม จะได้รับแรงบันดาลใจจากพลังแห่งสายน้ำ พลังแห่งวัฒนธรรมไทย เพราะความดีงาม ความสวยงามในใจของมนุษย์จะเกิดพลังสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด
ด้าน รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวสรุปแผนแม่บทให้เข้าใจได้ง่ายๆ ได้เห็นและได้ประโยชน์อะไรจากผังแม่บทพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะนำร่อง 14 กม. เริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย 12 แผนย่อย ในแนวทางอนุรักษ์ –สืบสาน-สร้างสรรค์ พอจะเสนอได้คร่าวๆ ดังนี้ แผนงานจัดทำทางเดินและทางจักรยานริมแม่น้ำกว้าง 7 -10 เมตร ,รวมถึง แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนกันน้ำท่วมเดิมให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม,แผนพัฒนาท่าเรือโดยสารเรือสาธารณะ ให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมความสอดคล้องเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่, แผนพัฒนาศาลาท่าน้ำให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย และชมทัศนียภาพริมน้ำ, ปรับปรุงตรอกซอกซอย ทางเดิน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ดียิ่งขึ้นแผนจัดทำพื้นที่บริการสาธารณะ ศูนย์บริการความช่วยเหลือ, ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว, จุดบริการจักรยาน, แผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมและสืบสานวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมาในอดีตให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยว , แผนพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำของประชาชนจะใช้เป็นลานเต้นแอโรบิค ที่วิ่งออกกำลังกาย ที่นั่งพักผ่อน, แผนจัดทำสะพานคนเดินข้าม ใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี, จากห้างแมคโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย จรัญฯ 84 ปรับปรุงทางเดินเท้าและทางจักรยานบนสะพานเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลอดภัย ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระราม 8,สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, ใต้สะพานทางรถไฟสายสีน้ำเงิน, เลียบคลองบางซื่อ-คลองบางอ้อ,ตลอดจนแผนพัฒนาสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ เราจะเชื่อมต่อพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี ให้เข้าชมได้สะดวกยิ่งขึ้น ให้เป็นจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (River Landmark)
เราจะใช้เทคโนโลยีในการจัดการโครงสร้างเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำไหลหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ขยะมูลฝอย เราจะให้ความสำคัญกับการสร้างทางเดินที่ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้านที่ถูกกฎหมาย และถ้ามองในภาพใหญ่การจัดทำโครงการนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำป้องกันการอุดตันของน้ำในช่วงที่น้ำหลากได้อีกด้วยปัญหาอุทกภัยในอนาคตจะได้รับการดูแล คลองเชื่อม ทางระบายน้ำจะมีความสอดคล้องกันเป็นระบบ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำขังอย่างครบวงจรไปพร้อมกัน ในด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเชิงผลดีคือการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วย การบูรณาการความคิดเห็นกับประชาชนทีอยู่ในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรวมทั้งความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณภาพชีวิต
ในช่วงที่ 2: "มุมมองจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อโครงการเจ้าพระยา"คุณวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนันทนาการ มีส่วนส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้และมรดกวัฒนธรรมไม่สูญหาย เสริมศักยภาพของท่องเที่ยวในกทม ซึ่งถือเป็นเมืองชั้นนำด้านการท่องเที่ยวและสอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งการบริหารจัดการ "ท่องเที่ยวจักรยาน" ด้าน ดร.หลินฟ้า คูร์พิพัฒน์ ที่ปรึกษาวิชาการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เห็นว่าทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯและโครงการนี้มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า สะดวก และปลอดภัย ชุมชน นักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการก็จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เรายินดีผนึกความร่วมมือกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในการพัฒนาศักยภาพของมรดกวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน
ในช่วงที่ 3: "เปิดใจคลายปม" นำโดย ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการฯ , ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการฝ่ายสถาปัตยกรรม , ผศ.กฤษณ์ เจ็ดวรรณะ รองผู้จัดการโครงการฯ ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงและตอบข้อสงสัยให้ความกระจ่าง อาทิ สิ่งที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จาก 12 แผนแม่บท, มูลค่าการลงทุน 12 โครงงานตามแผนแม่บท, รูปแบบการบริหารจัดการสาธารณูปโภคสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้น, ประชาชนสามารถติดตามงานขั้นต่อไป ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ ปีครึ่ง ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ต้นปี 60 และแล้วเสร็จกลางปี 61 เมื่อโครงการสำรวจทำเสร็จสิ้นแล้วประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมีข้อร้องเรียน สามารถติดต่อได้ที่ กรุงเทพมหานคร หมายเลข 1555