กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ส.อ.ท.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ส.อ.ท.1 สภาอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยทุกมิติ มุ่งเป้าแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้แก่ แรงงานในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ที่เกิดขึ้นระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาฝีมือของแรงงานของประเทศให้มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น และเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนแรงงาน ทั้งด้านเชิงปริมาณและคุณภาพ
"ความร่วมมือ ระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ในครั้งนี้ นับเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับภาคอุตสาหกรรมหล่อโลหะให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหล่อโลหะ อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ผ่านการร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ มีทักษะ สามารถปฎิบัติงานได้จริงในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ อีกทั้งถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง" นายเจน กล่าว
ด้าน นายสุพจน์ สิริธนาโชติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และอื่นๆ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ขั้นตอน และกระบวนการทำงานด้านการหล่อโลหะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมากในด้านการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องสร้างพื้นฐานทักษะความรู้ ตลอดจนทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพช่างหล่อโลหะ เพื่อให้มีความสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย และสามารถใช้เครื่องมือพื้นฐานงานช่างได้อย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ในการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้า และชิ้นส่วนโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานหล่อโลหะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"จากความพยายามของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือของแรงงานไร้ฝีมือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ทั้งด้านปริมาณ และคุณภาพจำนวนมาก นั้น กลุ่มอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ส.อ.ท. จึงประสานความร่วมมือไปยัง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ทั้งแรงงานใหม่ และแรงงานเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ให้มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้น และสามารถปฎิบัติงานได้อย่างถูกต้อง โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันพัฒนาด้านหลักสูตรสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ กลุ่มอาชีพช่างหล่อโลหะ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ตลอดจนร่วมกันจัดการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และภาคปฎิบัติในสถานประกอบการ โดยหลังจากการเข้ารับการฝึกอบรม และผ่านการวัดผลประเมินแล้วจะมีการประสานให้ผู้ประกอบการ บรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป ซึ่งวิธีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชนในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการที่สามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน" นายสุพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรอบความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ สภาอุตสาหกรรมแห่ง-ประเทศไทย ในครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมกันพัฒนาด้านหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงานสาขาอาชีพช่าง อุตสาหการ ในกลุ่มอาชีพช่างหล่อโลหะหรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ และร่วมกันประชาสัมพันธ์ คัดเลือกกลุ่มแรงงานที่เป็นเป้าหมายเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อนำไปสู่การทำงานในอุตสาหกรรมหล่อโลหะ รวมถึงร่วมกันวัดผล และประเมินผลผู้รับการฝึกที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการฝึกอบรมในสถานประกอบกิจการ โดยร่วมกันออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะดำเนินการจัดฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 2 เดือน จำนวน 280 ชั่วโมง ให้แก่แรงงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ส่วน ส.อ.ท. จะดำเนินการจัดหาสถานประกอบกิจการที่จะดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ผู้รับการฝึก ที่ผ่านการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นระยะเวลา 4 เดือน และจะดำเนินการประสานสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกเพื่อรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเข้าทำงานด้วย