ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ส.ค. 59 ปรับลดอยู่ที่ระดับ 83.3 - มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ยังคงสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2016 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ส.อ.ท. นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ประจำเดือนสิงหาคม 2559 จำนวน 1,204 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ27.7,37.7 และ 34.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.2,15.9,14.1,10.0 และ 13.8 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.7 และ 17.3 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 83.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.7 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาการปรับค่าจ้างแรงงาน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศจีนออกมาตรการให้สินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องดำเนินการพ่นสารเคมีกำจัดยุงในตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการผลิตที่เพิ่มมูลค่าและนวัตกรรมเพื่อยกระดับในการแข่งขัน ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2559 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 72.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.1 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมพลาสติก,อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม 2559 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 87.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และปลาหมึก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง และมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ราคาสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังและมันอัดเม็ด มีการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซียและจีน ลดลง ขณะที่สินค้าเกษตรแปรรูปผักและผลไม้ อาหารแช่แข็ง มีการส่งออกไปอาเซียน ยุโรป ลดลงเนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นจึงทำให้มีการปรับราคาสินค้าส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีคำสั่งซื้อลดลง) อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนพลาสติก ถุงพลาสติก ส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีการชะลอการสั่งซื้อ ขณะเดียวกันภาชนะบนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศมาเลเซียและฮ่องกง ลดลง) อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมียอดการส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่น ลดลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันสินค้าสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ และแคตตาล็อก มีการผลิตลดลง เนื่องจากลูกค้ามีการลดต้นทุนในการโฆษณา และหันไปใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประเภทวิตามิน อาหารเสริมที่เกี่ยวกับความงามและสุขภาพ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน มาเลเชีย และ CLMV เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 70.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 69.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (สมุนไพรไทยประเภท กวาวเครือ ขมิ้นชัน ไพล บัวบก และเครื่องหอม มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น มาเลเชีย และสิงคโปร์ เนื่องจากสมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยม ขณะเดียวกันยาสมุนไพร ประเภทยาบำรุงร่างกาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภททองคำ มีการส่งออกไปประเทศในแถบ CLMV สิงคโปร์และฮ่องกงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพได้มาตราฐานประกอบกับราคาทองคำเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากบริษัท หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันศึกษา ผลิตภัณฑ์กระดาษจากเยื่อไม้ไผ่และกระดาษสา มียอดส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สิ่งทอประเภทเส้นด้าย ที่นำไปทำผ้าผืนสำหรับทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป และไหมพรม เส้นไหมดิบ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ผ้าขนสัตว์เทียม เส้นไหมดิบ และผ้าไหม มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 76.5ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรการเกษตร เช่น ชิ้นส่วนเครื่องสีข้าว ชิ้นส่วนรถไถนา และอุปกรณ์การเกษตรมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเครื่องจักรการเกษตร รถไถ และเครื่องมือฐาน มียอดส่งออกไปประเทศลาวและพม่าเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (ผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และ CLMV เนื่องจากมีการปรับสายการผลิตให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และความต้องการผลิตภัณฑ์มือถือและอุปกรณ์รถยนต์ที่ทันสมัยขึ้น) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าเกษตรชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ มียอดในประเทศเพิ่มขึ้น สินค้าประเภท Biotic มียอดการส่งออกไปประเทศมาเลเชีย และ CLMV เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มีการส่งออกไปประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลางลดลง ประกอบกับเข้าสู่ฤดูปิดหีบอ้อย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 98.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี (ผลิตภัณฑ์ประเภทฟิล์มอุตสาหกรรม มีการส่งออกไปเอเชียและญี่ปุ่น ลดลงเนื่องจากเงินบาทแข็งค่าประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะเดียวกันสารเคมีอุตสาหกรรม มียอดคำสั่งซื้อจากอาเซียน จีน และอินเดียลดลง เนื่องจากลูกค้าไม่สต็อกสินค้าและราคาสินค้าผันผวน) อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทเหล็กเส้น โครงเหล็ก มียอดขายในประเทศลดลง จากความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากภาคก่อสร้างชะลอตัวและอยู่ในช่วงฤดูฝน ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง สำหรับงานเหล็กแปรรูป มีการส่งออกไปประเทศมาเลเชีย สิงค์โปร์ ฮ่องกง ลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลหนักมียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ขณะที่การส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและจีนลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก (ยอดสั่งซื้อเรือและซ่อมแซมเรือในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น สำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์เรือ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงเรือเพื่อรองรับการขนส่ง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 81.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.6 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ S-SBR มีการส่งออกไป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ลดลง ขณะเดียวกันน้ำยางข้น 60% มียอดการส่งออกไปประเทศจีน ไต้หวันและเวียดนาม ลดลง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและอินโดนีเชีย ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ขณะที่คำสั่งซื้อไม้แปรรูปในประเทศชะลอตัว) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์ม มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ผลปาล์มดิบมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัถุดิบ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากโรงพยาบาลและคลีนิก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการบริการ ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 82.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 83.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.7 ในเดือนกรกฎาคมองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง,อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 101.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัว อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนสิงหาคม คือ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และแผนป้องกันอุทกภัยในระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน และอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนด้านการขนส่งสินค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมเสนอให้ภาครัฐมีการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs ในการใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ