กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า งาน ไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2016 ถือเป็นงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเครื่องมือในห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมที่มีวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการต่อยอดงานวิจัยไปสู่อุตสาหกรรม บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัย ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือจากต่างประเทศ
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัยให้ได้ 1% ของจีดีพี เทียบเท่ากับ 130,000 ล้านบาท ภายในปี 2560 โดยมีสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชน ต่อรัฐที่ 70:30 ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ 0.5% จีดีพี แต่ด้วยการทำงานแบบบูรณาการของกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน ประกอบกับมาตรการสนับสนุนที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการเงิน มาตรการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายนักวิจัยจากภาครัฐไปทำงานในภาคเอกชน การสนับสนุนเอสเอ็มอีและโอท็อปเต็มรูปแบบ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในประเทศไทย จะทำให้พัฒนาและเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียนได้ คาดว่าจะทำให้ตัวเลขการลงทุนถึงเป้าหมาย 1% ได้ในปี 2560
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาความกังวลเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งหากรัฐบาลให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องมือห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ในฐานะตัวแทนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มั่นใจว่าการจัดงานครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพและความก้าวหน้าทางห้องปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ
สอดคล้องกับ นายธีรยุทธ์ ลีลาขจรกิจ ผู้อำนวยการสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่น เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ที่มองว่า การเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะส่งผลต่อการเติบโตและการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หมายรวมถึงเครื่องมือแล็บด้วย ซึ่งจะสะท้อนประเทศไทยให้กลายเป็นตลาดสำคัญของการลงทุนเครื่องมือและงานวิจัยแห่งใหม่ของเอเชีย ตลอดจนเป็นการตระหนักถึงการสร้างมาตรฐานและคุณภาพในภาคการผลิด ภาคอุตสาหกรรม ทำให้การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยและให้ผลที่น่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องการมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ความต้องการและการจำเป็นด้านการแพทย์ อนามัยและสาธารณสุข ส่งผลและจำเป็นต้องมีการสร้างเสริมการลงทุนเครื่องมือแล็บด้านนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันการต่อยอดการพัฒนาสู่อุตสากรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ จะมีการขับเคลื่อนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคในรูปแบบใหม่ด้วย ทั้งนี้ ไทยแลนด์แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2016 คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สำหรับงานจะมีไปจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2559 ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ด้าน ดร.นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีหน้าที่ในการสนับสนุนและการพัฒนาการประชุมนานาชาติของประเทศไทย เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ในการจัดงาน ไทยแลนด์ แล็บ ฯ ครั้งนี้ จะเป็นเสมือนแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมห้องปฏิบัติการและการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสถานที่น่าลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
กำหนดการจัดงานในครั้งต่อไป เตรียมพบกับงาน Thailand LAB INTERNATIONAL 2017 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ติดตามรายละเอียดหรือจองพื้นที่ได้ที่ www.thailandlab.com