กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--Feel Good Together PR
IFEC สร้างปรากฎการณ์ ดัน IWIND จับมือ ภาครัฐ ร่วมบริหารจัดการไฟฟ้าพลังงานลมผ่านแบตเตอรี่ยักษ์ครั้งแรกในอาเซียน ผู้บริหารชี้ปิดจุดอ่อนเสถียรภาพพลังงานไฟฟ้าจากลม เพิ่มอัตราการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น เตรียมเดินหน้าศึกษาร่วมภาครัฐเพื่อติดตั้งที่โรงไฟฟ้าปากพนังและเกาะเต่าตั้งแต่ตุลาคมนี้ ด้านศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบุ สอดคล้องนโยบายประชารัฐ พร้อมดันนักวิจัยจับมือเอกชนพัฒนานวัตกรรมเพิ่มเติม
ดร.สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) บริษัทย่อย บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC)เปิดเผยว่า บริษัทและบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้เซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนาการศึกษาการใช้งานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานลม กับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อที่จะร่วมมือกันนำระบบการจัดการไฟฟ้าพลังงานลมโดยใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจริง
โดยทาง MTEC จะอำนวยความสะดวกในการนำงานวิจัยและบุคลากรผู้วิจัยมาร่วมมือกับบริษัทในการวางระบบติดตั้งและใช้งานแบตเตอรี่ รวมทั้งจะดำเนินการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทจะส่งข้อเสนอแนะจากการใช้งานจริงเพื่อร่วมพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้บริษัทจะเริ่มดำเนินการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานเกาะเต่า ที่มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 4.8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าปากพนัง ที่มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 8.965 เมกะวัตต์ ในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยการวางระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าพลังงานลมด้วยแบตเตอรี่จะส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมมีความเสถียร จากเดิมที่ต้องพึ่งแรงลมตามธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มอัตราการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินโครงการกับภาครัฐในอนาคต ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานจะเข้ามามีบทบาทในระบบผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานทดแทนมากขึ้น
"ระบบบริหารจัดการไฟฟ้าพลังงานลมด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่นั้นจะทำให้เกิดความมั่นคงของพลังงานได้อย่างมาก เพราะจะมีอัตราการจ่ายไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ไฟฟ้าไม่กระชาก ลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าโดยใช่เหตุ และถ้าเกิดความขัดข้องด้านการผลิต แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ยังสามารถทำหน้าที่ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในระยะเวลาหนึ่งอีกด้วย" ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ ระบุด้วยว่า ความร่วมมือดังกล่าว ช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าได้ครบเครื่อง จากจุดเด่นในด้านการหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม จากนี้ก็จะสามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริษัทมีนโยบายในการขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปี
ด้าน ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมมีการจัดทำระบบสำรองพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ จากปัจจุบันที่มีการสำรองไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เอกชนให้ความสำคัญในเรื่องการกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เชื่อมั่นว่า การนำงานวิจัยไปใช้ในการดำเนินธุรกิจจริงนั้นจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีไปอีกก้าว ซึ่ง MTEC พร้อมดำเนินการศึกษาร่วมกับเอกชนอีกหลายโครงการ เพื่อสร้างประโยชน์และนวัตกรรมเพิ่มเติมอีกในอนาคต ตามนโยบายประชารัฐ
ขณะที่ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยพบว่าแบตเตอรี่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยสามารถกักเก็บพลังงานและย้ายพลังงานจากเวลาหนึ่งไปอีกเวลาหนึ่ง จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่งได้ แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมในด้านของการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งขนาดและระบบควบคุมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
ด้าน นายบรรจง อรชุนกะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่า บริษัทพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกับ MTEC ในการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าลมด้วยแบตเตอรี่ รวมถึงยังมีพันธมิตรอย่างผู้ผลิตกังหันลมอันดับ 1 ของโลก อย่างโกลด์วิน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (GOLDWIND) ประเทศจีน ร่วมทำการศึกษาด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น