สพฉ.แนะวิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ พร้อมชวนประชาชนเรียนรู้วิธีการฝึกลอยตัวในน้ำ เรียนรู้อาการคับขัน และวิธีการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย

ข่าวทั่วไป Thursday September 22, 2016 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 สพฉ.แนะวิธีเอาตัวรอดจากการจมน้ำ พร้อมชวนประชาชนเรียนรู้วิธีการฝึกลอยตัวในน้ำ เรียนรู้อาการคับขัน และวิธีการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย พร้อมแนะผู้เข้าให้การช่วยเหลือต้องมีสติและคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองหากเข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ เตือนห้ามนำเด็กที่จมน้ำวิ่งพาดบ่า เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำได้ ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกนักท่องเที่ยวล่มที่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสนามไชย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บและมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ล่าสุดวันนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาให้คำแนะนำถึงวิธีในการเอาตัวรอดหากเราจมน้ำและการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำอย่างปลอดภัย โดยนพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสพฉ.กล่าวว่า ประชาชนทุกคนควรเรียนรู้วิธีในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำดังนี้ 1. เรียนรู้หลักในการว่ายน้ำและทักษะในการเอาชีวิตรอดจากน้ำที่ถูกต้อง 2. รู้จักอาการคับขัน และวิธีการร้องขอความช่วยเหลือเช่นการโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะให้คนอื่นรู้ว่ากำลังประสบภัย การตะโกน 3. รู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวโดยใช้ท่าแม่ชีลอยน้ำ คือลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ โดยประชาชนจะต้องฝึกท่านี้ให้เป็นเพราะจะเป็นหนึ่งในท่าสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดจากการจมน้ำ และที่สำคัญคือต้องมีสติไม่ตกใจ 4.รู้จักวิธีการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้วยการโทรแจ้งสายด่วน 1669 รองเลขาธิการสพฉ.กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนทั่วไปพี่พบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำและต้องการเข้าให้ความช่วยเหลือ ในเบื้องต้นผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึงถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย โดยวิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น อย่างแรกคือการตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้เมื่อน้ำคนขึ้นมาจากน้ำได้แล้วนั้นให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 และหากสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจและช่วยหายใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก และสำหรับ นพ.ภูมินทร์กล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือชีวิตเด็กนั้นเป็นไปอย่างช้าและยากลำบากซึ่งวิธีที่ถูกต้องในการช่วยเหลือเด็กจมน้ำคือเมื่อเรานำเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วให้รีบวางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้ง หากเด็กไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ให้รีบช่วยฟื้นคืนชีพ ( CPR) ซึ่งในเด็กเล็กเราจะกดหน้าอกด้วยมือเพียงข้างเดียว วิธีการคือวางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ กดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการเป่าปากช่วยหายใจ 2ครั้ง กดแต่ละครั้งต้องเร็ว 100 – 120 ครั้ง ต่อนาที ไม่มีการหยุด และหากในบริเวณนั้นมีเครื่องช๊อตหัวใจ AED ให้นำมาใช้ช่วยเหลือ ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ