กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2
กพช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวิจัยสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มผสมน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ตั้งชื่อใหม่ "ดีเซลปาล์ม" ย้ำยกเว้นภาษีและเงินเก็บเข้ากองทุนฯ เตือนผู้ใช้ควรระวังการใช้น้ำมันมะพร้าวดิบหรือปาล์มดิบ เพราะเหมาะกับเครื่องยนต์รอบต่ำ ที่ใช้กับจักรกลการเกษตร เรือประมง และเรือขนส่งสินค้า เท่านั้น
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ซึ่งมีนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบการเรียกชื่อน้ำมันจากพืชมาเป็นเชื้อเพลิงตามหลักสากล โดยให้คำจำกัดความ "ไบโอดีเซล" หมายถึงการแปลงน้ำมันพืชให้เป็นสาร ester ส่วนการนำน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าวมาผสมกับน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันก๊าด ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้มีการระบุด้วยว่า ถ้าน้ำมันพืชที่กลั่นแล้วให้เรียกว่า "บริสุทธ์" ถ้าไม่กลั่นให้เรียกว่า "ดิบ" เช่น ดีเซลปาล์มดิบ หรือ ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะกับเครื่องยนต์แต่ละชนิด
สำหรับแนวทางการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลนั้น ได้วางแนวทางในการวิจัยและพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยพร้อมทุ่มงบประมาณเต็มที่จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยในระยะสั้นนั้นได้ให้ ปตท. ผลิตดีเซลปาล์มบริสุทธ์ป้อนให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจได้ใช้ก่อน ซึ่งมีความต้องการใช้ประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี พร้อมทั้งให้เตรียมชี้แจงเกษตรกรที่ใช้ดีเซลมะพร้าวดิบหรือดีเซลปาล์มดิบในเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว ว่าอาจมีปัญหาต่อเครื่องยนต์ได้ แต่ทั้งนี้สามารถใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำได้ เช่น เครื่องยนต์ดีเซลสำหรับจักรกลการเกษตร เรือประมง เรือสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและมีความรู้ในการดูแลรักษาเครื่องยนต์อยู่เสมอด้วย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืช กพช. ยังเห็นควรให้ กระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันและเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนของน้ำมันพืช หรือ Ester ที่ผลิตจากน้ำมันพืช ในอัตราส่วนที่ผสมในน้ำมันดีเซล โดยเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเฉพาะในส่วนของน้ำมันดีเซลเท่านั้น
สำหรับมาตรการระยะยาว จะได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานไบโอดีเซลของไทยที่ปลอดภัยต่อเครื่องยนต์และสิ่งแวดล้อม การวิจัยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตตั้งแต่การปลูกจนถึงการผลิต การวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลและการต่อเติมหรือปรับแต่งให้เหมาะสม นอกจากนั้นยังเปิดทางสำหรับการนำ "สบู่ดำ" หรือน้ำมันพืชที่เหลือจากการใช้ทำอาหาร เช่น จากร้านฟาส์ทฟูดต่างๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 6121555 ต่อ 201-5 โทรสาร 6121368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th-- จบ--
-อน-