กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ สวนดุสิตโพลมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนเรื่องการส่งเสริม "ผ้าไทย" จำนวน 2,001 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและสนับสนุนผ้าไทย โดยจากการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 76.66 ชอบผ้าไทย และร้อยละ 21.04 เฉยๆ ส่วนเหตุผลที่ชื่นชอบผ้าไทยเพราะ 1.ผ้าไหม เนื้อผ้ามีความสวยงาม เงางาม ประณีต มีคุณค่า มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ใส่แล้วดูภูมิฐานสง่างาม เสริมบุคลิก หรูหรา 2.ผ้าฝ้าย สวมใส่สบาย ราคาถูก ดูแลรักษาง่าย ระบายความร้อนได้ดีเหมาะกับสภาพอากาศ หาซื้อได้ง่ายลำดับ 3. ผ้าขาวม้า มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย สีสันสดใส 4.ผ้าประจำถิ่น เช่น ผ้าม่อฮ่อม ผ้าปาเต๊ะ เพราะสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น สำหรับความถี่ในการสวมใส่ผ้าไทยของคนไทย พบว่า ร้อยละ 36.98 สวมใส่ผ้าไทยในโอกาสสำคัญ รองลงมาร้อยละ 24.04 สวมใส่ผ้าไทย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 19.00 วันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ 18.43 งานมงคลต่าง ๆ ร้อยละ 18.20 วันที่หน่วยงาน/สถานศึกษากำหนด และร้อยละ 17.54 งานประเพณีท้องถิ่น
นายวีระ นอกจากนี้พบว่าจากการสำรวจประชาชนร้อยละ 42.98 ตั้งใจจะสวมใส่ผ้าไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ยังได้สอบถามความเห็นประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา สวมใส่ผ้าไทยในสถานศึกษา พบว่า ร้อยละ 87.01 เห็นด้วย และร้อยละ 79.43 ระบุว่าควรให้ใส่สัปดาห์ละ 1 วัน และยังพบอีกว่าระชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่าการสวมใส่ผ้าไทยจะมีประโยชน์ในด้านต่างๆ ร้อยละ 36.56 บอกว่า ส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยและประจำท้องถิ่นได้ถูกถ่ายทอดบนผืนผ้าไทย ร้อยละ ๒๒.๔๗ ผู้สวมใส่ผ้าไทยมีความสง่างาม เกิดความภาคภูมิใจ ร้อยละ 15.63 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ประชาชนมีข้อเสนอแนะเรื่องการเพื่อส่งเสริมให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ได้แก่ 1.ควรทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในทุกมิติของการส่งเสริมผ้าไทย เช่นการผลิต การออกแบบการจำหน่าย และการประชาสัมพันธ์ 2.ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับผ้าไทย เช่น การทอ ย้อมสีธรรมชาติ ย้อมโคลน การตัดเย็บ การออกแบบ และช่วยเหลือผู้ประกอบการผ้าไทยให้มีช่องทางในการขยายตลาดเพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากผ้าไทยได้มากขึ้น 3.ผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมควรสวมใส่ผ้าไทยเป็นแบบอย่าง 4.ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้ผ้าไทยเป็นชุดฟอร์ม (uniform) และขยายผลไปยังหน่วยงานเอกชน เช่น ธนาคาร บริษัทที่มีชื่อเสียง 5.รณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังและต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และรณรงค์ให้ครู นักเรียน นักศึกษา แต่งกายด้วยผ้าไทยในสถานศึกษาสัปดาห์ละ 1-2 วัน 6.จัดประกวด เช่น ออกแบบ ผ้าไทย ทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไทย เช่น หมวก กระเป๋า ให้ดูสวยงาม ร่วมสมัย สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และจัดแฟชั่นโชว์เดินแบบผ้าไทย รวมถึงประกวดหน่วยงานที่แต่งกายด้วยผ้าไทย สร้างหน่วยงานต้นแบบแต่งกายผ้าไทย มอบเกียรติบัตรให้หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ อย่างไรก็ตาม วธ. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นมาปรับปรุงและใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมผ้าไทย เพื่อให้ผ้าไทยเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น