กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์
ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัต (United Nations Conference on Trade and Development – UNCTAD) ระบุว่าการจะฟื้นเศรษฐกิจโลกให้สำเร็จได้นั้น เหล่าผู้นำโลกจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบในภาคการเงินและดำเนินนโยบายเชิงรุกในภาคอุตสาหกรรม
รายงานการค้าและการพัฒนาประจำปีนี้ เน้นย้ำว่าภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก สำหรับประเทศกำลังพัฒนาก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน
"ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกต่างต้องเผชิญความท้าทายพร้อมๆกันหลายด้าน ตั้งแต่การชะลอตัวของการลงทุน การผลิต การค้า ตลอดจนปัญหาการกระจายรายได้และภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องการวิธีคิดเชิงรุกใหม่ๆ มากกว่ามาตรการเดิมๆ" เลขาธิการอังค์ถัต – Mukhisa Kituyi กล่าว
ปีอันตราย
ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ การดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวดในภาวะเช่นนี้ ทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ การเติบโตของค่าจ้างแรงงานที่เชื่องช้ามาเป็นเวลานาน ได้นำไปสู่อุปสงค์ในภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายเพื่อลงทุนที่ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปีนี้ อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.6 เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น ที่อยู่ในภาวะซบเซา นอกจากนี้ ทางสหราชอาณาจักรที่ดูจะฟื้นตัว กลับต้องชะงักจากการตัดสินใจที่จะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แม้ว่าจะยังคาดเดาผลกระทบได้ยาก เหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจร้อยละ 2.5 สำหรับผลกระทบในแต่ละภูมิภาคนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น อเมริกาใต้อยู่ในภาวะถดถอย ส่วนเอเชียยังเติบโตช้าแต่สม่ำเสมอ เป็นต้น
อัตราการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาที่ชะลอตัวลงทำให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก (ตาราง 1) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของอังค์ถัตคาดการณ์ว่าการเติบโตเฉลี่ยในปีนี้ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตในปี 2557 และ 2558 นอกจากนี้ ปัญหาอุปสงค์และค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) ที่เติบโตช้า เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการเติบโตของการค้าโลกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ร้อยละ 1 แต่ถ้าหากว่าผู้กำหนดนโยบายไม่สามารถจัดการผลกระทบทางลบจากการปล่อยกลไกตลาดเสรี และหันกลับไปใช้นโยบายกีดกันทางการค้า ก็จะยิ่งนำไปสู่วงจรแห่งความเลวร้าย (vicious cycle) ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทุกคน
การกำกับดูแลในภาคการเงิน : เงินที่สูญเปล่า การลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัว
"ผู้ที่เชื่อในตลาดที่มีประสิทธิภาพเชื่อว่าการผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงินจะช่วยกระตุ้นการลงทุน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แม้ว่าผลกำไรของบริษัทและอัตราเงินปันผลจะเติบโตด้วยดี และมีการควบรวมกิจการมากขึ้น แต่ก็ไม่เกิดการสร้างโรงงาน การซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ หรือ การแสวงหาทักษะและการวิจัยและพัฒนา" Richard Kozul-Wright หัวหน้าฝ่ายโลกาภิวัตน์และกลยุทธ์การพัฒนาของอังค์ถัต กล่าว
กิจการต่างๆไม่นำกำไรที่ได้กลับมาลงทุนในกิจกรรมที่เกิดผลิตผล การจ้างงาน หรือการเติบโตที่ยั่งยืน สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนต่อ GDP กลับต่ำกว่าเมื่อ 35 ปีก่อนมากกว่าร้อยละ 3 แม้ว่าส่วนแบ่งกำไรจะเพิ่มสูงขึ้น (ภาพที่ 1) เกิดจากการพึ่งพิงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและสินเชื่อราคาถูกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อังค์ถัตเตือนว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามีความเปราะบางต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลกมากขึ้นรวมทั้งสภาวะที่มีการเก็งกำไรและการเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวนมาก การผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงินของประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้กิจการต่างๆลดสัดส่วนการนำกำไรกลับมาลงทุนใหม่ เช่น บราซิล มาเลเซีย และตุรกี ที่สัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างมากต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990s ซึ่งส่งผลเสียต่อการเติบโตในระยะยาว
เงินทุนที่ไหลเข้าสุทธิ (net capital flows) สู่ประเทศกำลังพัฒนา กลับมาเป็นลบในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ส่วนในปี 2558 และไตรมาสแรกของปี 2559 มีเงินทุนไหลออก 650 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 185 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ (ภาพที่ 2) แม้ว่าปัญหาจะทุเลาลงบ้างในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 แต่ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด (deflationary spiral) เนื่องจาก การไหลออกของเงินทุน การลดลงของค่าเงิน และการตกต่ำของราคาสินทรัพย์ ล้วนแล้วแต่เป็นผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง ในปัจจุบัน ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายประสบปัญหาการชำระหนี้ ซึ่งหากไม่มีความพร้อมในการจัดการก็จะนำมาซึ่งผลที่เลวร้ายมากขึ้น
การเพิ่มสูงขึ้นของหนี้สินภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีปริมาณมากกว่า 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เป็นสัญญาณเตือนที่ต้องจับตา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับการสะสมสินทรัพย์ทางการเงิน และการลงทุนที่มักจะลงไปยังภาคเศรษฐกิจที่เน้นค่าเช่าและผันแปรไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจสูง ได้แก่ พลังงาน เหมืองแร่ ไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม
อังค์ถัตแนะนำให้รัฐปิดช่องโหว่ในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ประกอบกับดำเนินมาตรการทางการคลังและการวางกฎกติกาเพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาว และในระบบการเงินควรมีการกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ ควรมีบทบาทมากขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคเชิงรุก : การกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเป็นกุญแจสำคัญสู่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ประเทศพัฒนาแล้วสามารถช่วยเริ่มต้นให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนด้วยการดำเนินนโยบายการคลังในเชิงรุก ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อมๆกับนโยบายทางการเงินที่ช่วยสนับสนุน และมาตรการกระจายรายได้ ซึ่งรวมถึง นโยบายด้านรายได้ ค่าแรงขั้นต่ำ การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมต่อท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งนโยบายดังกล่าวควรจะต้องพยายามกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจที่การเงินมีอิทธิพลสูง (financialization)
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาควรจะเสริมสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ ใช้กฎระเบียบต่างๆเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอิทธิพลของภาคการเงินในบริบทของตน และรักษาความเป็นอิสระทางนโยบายและความยืดหยุ่นด้านการคลังเพื่อจัดการกับวิกฤตที่ไม่อาจคาดเดาได้ หลายๆมาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องมีการประสานกันในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกสูงในกลุ่ม G20
ประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาเติบโตสูงขึ้น
ในปัจจุบัน ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะเติบโตทันมากขึ้น (ตาราง 2) ในบางภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออก ประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและรายได้จากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งอออก ซึ่งไม่มีภูมิภาคใดเลยนอกจากภูมิภาคนี้ (แม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่จะสามารถเพิ่มสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ได้มากกว่าร้อยละ 30 (ตารางที่ 3)
กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคอื่นๆยังมีปัญหา ประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะยกระดับไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ยากขึ้น ในบางกรณี เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "การย้ายจากภาคอุตสาหกรรมก่อนที่จะพัฒนาเต็มที่" (premature deindustrialization) ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างฉับพลันโดยที่เชื่อในกลไกตลาด ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตไม่พัฒนาหรือลดลง นำไปสู่สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP และการจ้างงานที่ลดลง และอัตราการเติบโตของการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาครัฐที่ลดต่ำลงอย่างมาก
ในปี 2557 การส่งออกจากเอเชียมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 90 จากการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด และร้อยละ 94 ของการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งสร้างรายได้แก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก (ภาพที่ 4)
อย่างไรก็ตาม การพัฒนารูปแบบนี้เริ่มมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการที่อุปสงค์โดยรวมตกต่ำลงทั่วโลกทำให้ตลาดการส่งออกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น แรงกดดันต่อราคาและค่าจ้างแรงงานส่งผลกระทบแม้แต่กับประเทศผู้ส่งออกในเอเชียที่ประสบความสำเร็จที่สุด (ตารางที่ 4) นอกจากนี้ การจ้างงานยังชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง
การพัฒนาเทคโนโลยีและการประหยัดต่อขนาดในบางอุตสาหกรรมอาจจะเป็นทางออก อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของห่วงโซ่อุปทานของโลก (global value chain) ซึ่งทำให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองและอำนาจในการกำหนดราคาที่สูง ทำให้ยากต่อกิจการของประเทศกำลังพัฒนาที่จะเข้าสู่ตลาดได้อย่างสมเหตุสมผล และสูญเสียประโยชน์จากประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการที่ราคาลดต่ำลง
ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องวางกลยุทธ์เชิงนโยบายเพื่อยกระดับการผลิตและความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด เพื่อที่จะเข้าสู่ตลาดในประเทศพัฒนาแล้ว ตัวอย่างเช่น นโยบายด้านการแข่งขันและกฎเกณฑ์ต่างๆที่นำไปสู่การพัฒนาและช่วยส่งเสริมกิจการภายในประเทศ นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมในระดับนานาชาติที่จะติดตามแนวโน้มในภาคอุคสาหกรรมต่างๆในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทาน และติดตามดูแลพฤติกรรมไม่ชอบในทางธุรกิจอีกด้วย
อังค์ถัตเห็นว่าตลาดในระดับภูมิภาคและการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันยังเปิดโอกาสในการส่งออกใหม่ๆ แต่ก็ต้องมีการวางกลยุทธ์เชิงนโยบายที่สมดุลเพื่อส่งเสริมตลาดภายในประเทศไปพร้อมกัน และยืนยันว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในแบบเดิมๆ ซึ่งมักจะมาควบคู่กับค่าเงินที่สูงเกินจริงและการกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำลง จะไม่นำมาซึ่งผลสำเร็จที่ยั่งยืน
การฟื้นฟูนโยบายอุตสาหกรรม
สภาพแวดล้อมของโลกที่ท้าทายมากขึ้นทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเติบโตได้สูงเหมือนเมื่อต้นศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาจะต้องใช้มาตรการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่สูงแต่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น การจัดสรรทรัพยากรไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการกระจายตัวและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น
นโยบายด้านอุตสาหกรรมโดยทั่วไปมักจะใช้วิธีเลือกสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม รายงานการค้าและการพัฒนาในปีนี้เสนอให้ใช้วิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การสร้างความเชื่อมโยงและความสามารถในการสร้างฐานการผลิตที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกิดการทดลองและเรียนรู้ทั้งในภาครัฐและเอกชน เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมีสัดส่วนลดลงเช่นกัน
รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ความมีเสถียรภาพและศักยภาพของสถาบันภาครัฐ ประกอบกับการมีทรัพยากรสาธารณะที่เพียงพอ มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การที่รัฐและเอกชนมีความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูล และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐควรที่จะสามารถเพิกถอนหรือระงับการช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่กิจการไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่คาดหวัง
อังค์ถัตยังเห็นว่าควรที่จะถกเถียงกันในเรื่องความสมบูรณ์แบบของการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายให้น้อยลง และไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยนโยบายด้านอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยความสำเร็จขึ้นกับการบูรณาการระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การค้า และอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน