กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--
กระทรวงพาณิชย์ ขานรับนโยบายรัฐบาลมุ่งพัฒนาสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Innovation based and Creativity based Start-Ups) เพื่อสร้างฐานประเทศไทยสู่การเป็น Creative Thailand พร้อมก้าวเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจThailand 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงานสัมมนาพิเศษ ASIA Design & Innovation Conference 2016 ในงานแสดงสินค้า Thailand Innovation and Design Expo 2016 (TIDE 2016) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกล่าวว่า "การนำพาประเทศไทยก้าวข้ามรายได้ระดับกลาง สู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รวมถึงการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่างๆ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่"Thailand 4.0" โมเดลเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศ กระทรวงพาณิชย์ขานรับนโยบาย เร่งพัฒนาสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Innovation based and Creativity based Start-Ups) เพื่อสร้างฐานประเทศไทยสู่การเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยจากสถิติพบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ในปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวนผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 359,515 ราย จำนวนการจ้างงานอาชีพสร้างสรรค์ 860,654 คน และในด้านสถิติทางทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ในปี 2558 มีจำนวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทย 2,090 ครั้ง"
"ดังนั้น การยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เดิม สู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S –Curve) ต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตไปพร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น ดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่ม Startup รัฐบาลต้องพัฒนาองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Creative People, Creative Product และCreative Place ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้เครื่องยนต์ชุดนี้เติบโต ด้วยการพัฒนาระบบการเงินการลงทุนใหม่ๆ การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และย่านสร้างสรรค์เพื่อเป็นแหล่งธุรกิจสร้างสรรค์และดึงดูดต่างประเทศให้ลงทุนในประเทศไทย การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคแก่ธุรกิจ การจัดทำมาตรการส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์ผ่านนวัตกรรม Creative Thinking เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของปัจจุบันและอนาคต เช่น สังคม Ageing Society เป็นต้น ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงไม่อาจมองเฉพาะการพัฒนารายสาขาของอุตสาหกรรม อาทิ แฟชั่น โฆษณา ภาพยนตร์ ฯลฯ แต่ต้องเชื่อมโยงการใช้นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับสินค้าและบริการของไทยในภาคการผลิตจริง (Real Sector) ทั้ง อุตสาหกรรมเกษตร การกีฬา อาหาร การท่องเที่ยว และบริการ"
กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งธุรกิจ SMEs ธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจ Startup ให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Enterpriseโดยการสร้าง New Business Model ที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลจะเปิดตัวงาน Creative Thailand :สร้างสรรค์ สร้างชาติ โดยจัดขึ้นอย่างเป็นทางการภายในงาน BIG & BIH 2016 เพื่อประกาศศักยภาพทุนทางความคิดสร้างสรรค์ของไทยและเป็นการปักหมุดการเดินหน้าเพื่อยกระดับกลุ่มอุตสาหรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Creative ,Culture & High Value Service) โดยประกอบด้วย นิทรรศการสร้างสรรค์ สร้างชาติ การสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์ ได้แก่ บูธธุรกิจสร้างสรรค์ กลุ่ม Creative Startup การส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ Creative District และ การจัดเวทีสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ กำหนดจัดระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้า ไบเทค บางนา
"จุดแข็งหนึ่งที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันนั่นก็คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้หากนำมาพัฒนาส่งเสริมอย่างจริงจัง ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตไปพร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแน่นอน"