กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
อบก. จัดงาน ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน เป็นปีที่ 4 หนุนภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่นไทย ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ปลื้ม ปี 59 มีผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จำนวนมากกว่า 300 ราย สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. เปิดเผยว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ อบก. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้พัฒนาธุรกิจคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผ่านการส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ และนำผลที่ได้ไปกำหนดแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมฉลากคาร์บอน และสร้างศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและขยายผลสู่การรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เพื่อกำหนดแนวทาง ประเมินศักยภาพ และดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน
ผลการดำเนินการในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองต่างๆ และกิจกรรมที่อบก. ส่งเสริมสนับสนุน ในปี2559 พบว่า
1) กิจกรรมชดเชยคาร์บอน ซึ่งเป็นการรับรองให้ใช้เครื่องหมาย Carbon Offset ซึ่งเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางส่วนและ Carbon Neutral ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองการปล่อย
ก๊าวเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ ในปีงบประมาณ 2559 มีผู้ที่ผ่านการรับรองประเภทองค์กร 14 บริษัท ประเภทผลิตภัณฑ์ 3 ผลิตภัณฑ์ จาก 2 บริษัท ประเภทบุคคล 76 คน และประเภทการจัดประชุม/สัมมนา และอีเว้นท์ จำนวน 9อีเว้นท์ มีปริมาณการซื้อคาร์บอนเครดิตจากการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนทั้งสิ้น 12,449 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศโดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 1.87 ล้านบาท
2) ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และฉลากลดโลกร้อน หรือ ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์(Carbon Footprint Reduction) ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในอาเซียนที่มีระบบการรับรองสอดคล้องตามหลักสากล ปีงบประมาณ 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนทั้ง 2 ฉลากคาร์บอนรวมจำนวน 648 ผลิตภัณฑ์สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,347,022 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า
3) คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้องค์กรในภาคอุตสาหกรรม สามารถวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของตนในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และนำผลที่ได้ไปใช้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ และดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพประจำปี 2559 พบว่า มีองค์กรภาคอุตสาหกรรมดำเนินการและผ่านการรับรองจาก อบก. แล้ว จำนวน 42 องค์กร จาก 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ องค์กรได้นำผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปใช้กำหนดแนวทางการจัดการและแผนงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างน้อย 416,324.64 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ อบก. ได้พัฒนากลไก เครื่องมือ และระบบในการจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสีเขียวของประเทศ (Green Growth) กลไกและเครื่องมือเหล่านี้ที่ อบก. พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย
โครงการ "สนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก" (Low Emission Support Scheme: LESS) ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมทั้งสร้างเครื่องมือการคำนวณปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อความสะดวกต่อการพัฒนาโครงการ และส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จาก "ผู้ให้" ในภาคองค์กรธุรกิจ ไปสู่ "ผู้รับ" ในชุมชน โดยในปีงบประมาณ 2559 มีผู้ขอการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ LESS ในช่วงระยะเวลาการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจกจนถึงปี 2559 จำนวน 258 กิจกรรม สามารถลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 79,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โครงการ "ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย" (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) หรือ โครงการ T-VER คือ หนึ่งในกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่ อบก.พัฒนาขึ้นภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้พัฒนาโครงการรายเล็ก มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ ขณะที่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) นอกจากนี้ โครงการ T-VER ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ของการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ช่วยลดมลพิษ เพิ่มความร่มรื่นและพื้นที่สีเขียว ลดการใช้พลังงานและค่าไฟฟ้า สนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชน และอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาอาชีพใหม่ๆ มากขึ้นด้วย ในปีงบประมาณ 2559 มีโครงการที่ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 19 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้รวมกัน 378,122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีโครงการที่ได้ผ่านการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก (TVERs)จำนวน 15 โครงการ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 249,612 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
โครงการ "การส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำ " เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ เมือง/เทศบาล สามารถทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในขอบเขตการปกครองและสนับสนุนให้เมืองมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง รวมถึงการประเมินศักยภาพของกิจกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันของเมืองและเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของ "เมือง" โดยในปีงบประมาณ 2559 มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วเสร็จ จำนวน 24 แห่ง และจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองแล้วเสร็จจำนวน 24 แห่ง
โครงการ "การพัฒนาแนวทางการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองขนาดใหญ่และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม" ซึ่งเป็นแนวทางในการวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความครอบคลุมในทุกภาคส่วนของเมือง ยกระดับ (Scale-up) การจัดการก๊าซเรือนกระจกในเมืองที่มีขนาดใหญ่ และสามารถนำผลการดำเนินงานดังกล่าวไปขยายผลยังเมืองต่างๆ เพื่อสนับสนุนประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2559 นี้ ได้เริ่มดำเนินโครงการร่วมกับ 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดภูเก็ต
โครงการต้นแบบ "ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน" เป็นโครงการที่ อบก. พัฒนาร่วมกับ กรมป่าไม้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน สนับสนุนกิจกรรมของชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของป่าชุมชนในการลดก๊าซเรือนกระจกและบรรลุประโยชน์ร่วมอื่นๆ บนพื้นฐานของการสร้างกระบวนการดำเนินงานภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) โดยใน ปีงบประมาณ 2559 ได้ร่วมกับภาคเอกชน 3 แห่งที่ประสงค์จะให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่ป่าชุมชนต้นแบบ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ ป่าชุมชนบ้านเขามุสิ จังหวัดกาญจนบุรี
2) บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ ป่าชุมชนบ้านร่องบอน จังหวัดเชียงราย
3) บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ ป่าชุมชนบ้านศาลเจ้า จังหวัดระยอง
ในอนาคต อบก. ก็จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการและลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป เพื่อนำประเทศมุ่งสู่ "สังคมคาร์บอนต่ำ" และบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (BAU) ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้ประกาศไว้ในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา