ย้ำบทบาท พ่อแม่-ครู-รัฐ หัวใจผลักดัน "อัจฉริยภาพ" เด็กถูกทาง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2001 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สสวท.
พ่อแม่-ครู-รัฐ เป็นหัวใจผลักดัน "อัจฉริยภาพ" ในตัวเด็กให้โดดเด่น 3 ฝ่ายย้ำร่วมกันต้องส่งเสริมเด็กในทิศทางที่ลูกถนัดจึงจะก้าวกระโดดได้ไกล เตือนพ่อแม่อย่าเผด็จการจะทำลูกเสียโอกาส รัฐปรับแนวการเรียนการสอนป้องกันปัญหาเด็กเครียด
จากการสนทนาเรื่อง "การส่งเสริมนักเรียนที่มีอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์" ในพิธีมอบเหรียญรางวัลการแข่งขันคณิตศาสตร์ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ประจำปี พ.ศ.2543 แก่นักเรียนชั้น ป.3 , ป.6 และ ม.3 รวม 190 คน โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับ สนง. คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กรมสามัญศึกษา ล่าสุดที่ผ่านมา ศ.ดร สิปปานนท์ เกตุทัต ประธานกรรมการ สสวท. ได้ให้ข้อคิดว่าเด็กเก่งที่มีอัจฉริยภาพนั้น รัฐ-พ่อแม่-และครู ควรเป็นแกนกลางเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเด็กโดยเฉพาะพ่อแม่และครูซึ่งใกล้ชิดเด็กมากที่สุด หากสังเกตเห็นความสามารถพิเศษที่แตกต่างกันออกไปในเด็กแต่ละคน แล้วดึงจุดเด่นนั้นออกมาส่งเสริม ก็จะพัฒนาเด็กได้เต็มที่ การฝึกเด็กเก่งให้เข้ากับสังคมได้ดีนั้นพ่อแม่ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว สอนในส่งที่เด็กอยากรู้ เข้าใจลูกไม่โกรธในสิ่งที่ลูกถาม พยายามให้เด็กเรียนรู้วิธีและรู้จักแหล่งแสวงหาความรู้ต่าง ๆ
"ในเด็กไทย 80% เป็นเด็กกลาง ๆ ส่วนอีก 5% เป็นเด็กเก่งมีอัจฉริยภาพ ซึ่งขณะนี้เราก็จัดให้มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อดึงความเด่นของเด็กกลุ่มนี้ออกมาส่งเสริมอย่างเต็มที่แล้ว"
นายอธิปัตย์ คลี่สุนทร รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา กล่าวว่า นักเรียน ม.ปลายเลือกสอบเข้าสายวิทย์น้อย โดยกรมดูแลโรงเรียน 2,668 แห่ง ระยะหลังนโยบายกรมให้ความสำคัญกับการประเมินผลมากกว่าการสอบ เนื่องจากพบปัญหาเด็กเครียดและขาดครูสอนวิทยาศาสตร์ กรมจึงปรับวิธีด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยให้เด็กทำกิจกรรมเสริมเป็นการเพิ่มคะแนน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ดีลดความเครียด "การส่งเสริมเด็กต้องดูตามความถนัดซึ่งมีต่างกันและไม่เท่ากัน ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจลูกและบีบให้ไปในทิศทางที่เขาไม่ถนัด เด็กจะเสียโอกาสมาก ตรงกันข้ามลูกจะพัฒนาได้รวดเร็วถ้าหนุนให้เขาเดินไปในด้านที่ชอบ"
นายสมบูรณ์ โพธิอะ ศึกษานิเทศก์ สนง. การประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สปช. ให้ความสำคัญระดับนโยบายกับการส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันก็คือครูในสังกัด สปช. มักต้องเหมาชั้นสอนทุกวิชา--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ