กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--NBTC Rights
จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 23/2559
ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 23/2559 วันอังคารที่ 27 กันยายน 2559 มีวาระที่น่าจับตา คือ รายงานการตรวจสอบการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวของDTAC ส่วนวาระเรื่องเพื่อทราบที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เรื่องรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 2 ปี 2559, รายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม และเรื่อง บมจ. ทีโอที ขอระงับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย
วาระรายงานการตรวจสอบการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวของ DTAC
วาระนี้สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องกล่าวหากรณี กทช. เพิกเฉยไม่ควบคุมตรวจสอบการประกอบกิจการโทรคมนาคมและใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) โดยปล่อยให้มีการถือครองหุ้นในกิจการโทรคมนาคมโดยคนต่างด้าว อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ซึ่งสำนักงาน กสทช. จำเป็นต้องจัดทำคำชี้แจงตอบกลับเรื่องดังกล่าวภายในวันที่ 4 ตุลาคมนี้
เหตุที่มาของเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ในสมัย กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. โดยในขณะนั้นได้รับรายงานร้องเรียนกรณีปัญหาการถือหุ้นและการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และข้อร้องเรียนในเรื่องลักษณะเดียวกันจาก บจ. ทรู มูฟ ขณะเดียวกันไม่นานหลังจากนั้น ก็มีผู้อ้างตนเป็นผู้ใช้บริการโทรคมนาคมและถือหุ้นใน บมจ. โทเทิ่ลฯ ฟ้องอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กสทช. ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าได้ทราบข่าวเกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร และข้อร้องเรียนของ บจ. ทรู มูฟ ทำให้ตนเชื่อว่า บมจ. โทเทิ่ลฯ เป็นคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จึงไม่สามารถประกอบกิจการโทรคมนาคมได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และร้องขอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. เพิกถอนการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ บมจ. โทเทิ่ลฯ
ทั้งนี้ ผลของคดีที่มีผู้ฟ้องศาลปกครองกลางนั้น ล่าสุดศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่26 พฤศจิกายน 2558 ว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า กสทช. ได้พิจารณาไปในทางหนึ่งทางใดว่า บมจ. โทเทิ่ลฯ ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามหรือมีการกระทำที่เป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวหรือไม่ อย่างไร จึงพิพากษาให้กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คดีนี้ถึงที่สุด โดยพิจารณาว่า บมจ. โทเทิ่ลฯ กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 หรือไม่ แล้วให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลดังกล่าว
สำหรับสาระหลักของคำอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. เห็นว่า การวินิจฉัยว่า บมจ. โทเทิ่ลฯ เป็นคนต่างด้าวตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกสทช. แต่เป็นอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการตรวจสอบหรือบังคับใช้กฎหมายนั้นโดยตรงก่อน อีกทั้งการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวกับสถานะของการประกอบกิจการโทรคมนาคม มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะและผลกระทบต่อผู้ใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน กสทช. จึงไม่อาจเพิกถอนการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ บมจ. โทเทิ่ลฯ ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้ ส่วนการตรวจสอบการกระทำของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมว่ามีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามประกาศ กสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 หรือไม่นั้น สำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า โดยหลักของประกาศฉบับนี้ ลักษณะการครอบงำกิจการเกิดขึ้นได้ 3 กรณี คือ 1) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด 2) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ 3) การแต่งตั้งหรือการถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือพฤติการณ์ของ บมจ. โทเทิ่ลฯ ที่เข้าลักษณะข้อห้ามที่เกิดจากการที่คนต่างด้าวเข้าไปครอบงำกิจการตามนิยามการครอบงำกิจการของประกาศ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 บริษัทยังได้นำส่งข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามแนวทางที่ระบุไว้ในประกาศ พร้อมทั้งรับรองว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดต่อข้อห้ามดังกล่าวมายังสำนักงาน กสทช. แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท
สำหรับการนำเสนอวาระนี้ของสำนักงาน กสทช. นั้น เป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงและรายงานผลการตรวจสอบการกำหนดหรือทบทวนข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวของกรณีดังกล่าวเพื่อให้ กทค. พิจารณา และจะนำความเห็นไปประกอบการจัดทำคำชี้แจงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ทันภายในกำหนดเวลาต่อไป
วาระรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายประจำไตรมาส 2 ปี 2559
บริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ จำกัด รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประจำไตรมาส 2 ปี 2559 ว่า มีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น 875,323 เลขหมาย แม้จะเพิ่มจากไตรมาสแรกของปี 2559 ถึง 18.34% แต่ก็ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ถึง 51.19% ในจำนวนนี้เป็นการโอนย้ายเลขหมายของกลุ่มบริษัท AWN จำนวน 350,096 เลขหมาย รองลงมาเป็นการโอนย้ายเลขหมายของกลุ่มบริษัท DTN จำนวน 342,183 เลขหมาย และกลุ่มบริษัท TRUE ซึ่งประกอบไปด้วย Real Move และ True Move H Universal Communication ซึ่งมีเลขหมายโอนย้ายสำเร็จจำนวน 127,693 เลขหมาย และ 55,029 เลขหมาย ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนเลขหมายที่ขอโอนย้ายในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 พบว่ามีปริมาณกว่า 3,500,000 เลขหมาย นั่นหมายความว่า ความสำเร็จของการโอนย้ายเลขหมายทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 24.63% เท่านั้น ซึ่งลดลงอย่างมากจากค่าเฉลี่ยของปี 2558 ที่ความสำเร็จของการโอนย้ายเลขหมายอยู่ที่77.05% ขณะที่ถ้าพิจารณาสัดส่วนความสำเร็จของการโอนย้ายเลขหมายแยกเป็นรายกลุ่มบริษัท จะพบว่า กลุ่มบริษัท DTN มีความสำเร็จในการโอนย้ายสูงสุดอยู่ที่ 85.57% รองลงมาคือกลุ่มบริษัท AWN อยู่ที่ 76.45% บริษัทTOT อยู่ที่ 47.35% ส่วนกลุ่มบริษัท TRUE ได้แก่ Real Move และ True Move H Universal Communication สัดส่วนอยู่ที่ 13.13% และ 3.22% ตามลำดับ ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ชี้แจงว่า ภายหลังที่ได้ดำเนินการตรวจสอบ พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้การโอนย้ายไม่สำเร็จเกิดจากข้อมูลผู้ใช้บริการไม่ตรงกันและเอกสารไม่ครบถ้วน โดยสำนักงานกสทช. ระบุว่า ได้มีคำสั่งกำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติในเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเคร่งครัดแล้ว ถึงกระนั้นสำนักงาน กสทช. คงต้องติดตามกวดขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกีดกันการแข่งขันทางธุรกิจ และละเมิดสิทธิผู้บริโภค ส่วนกรณีที่ตรวจสอบพบสาเหตุว่าข้อมูลผู้ใช้บริการไม่ตรงกันและเอกสารไม่ครบถ้วนจนเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถโอนย้ายเลขหมายได้ ก็ต้องมีมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่มีอัตราการโอนย้ายเลขหมายไม่สำเร็จสูง เพราะลำพังเพียงการตรวจสอบหาสาเหตุ คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา
วาระรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม
สำนักงาน กสทช. เตรียมนำเสนอรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ประจำเดือนสิงหาคม 2559 ให้ กทค. รับทราบ โดยในเดือนสิงหาคมนี้ มีเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคหรือผู้ให้บริการแจ้งความประสงค์ขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเรื่องที่ตกค้างจากการดำเนินการในเดือนกรกฎาคมจำนวนทั้งสิ้น 26 เรื่อง แต่มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้จริงเพียงเรื่องเดียว แม้ผลสุดท้ายจะสามารถไกล่เกลี่ยจนได้ข้อยุติก็ตาม ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่มีการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี 10 มีเรื่องร้องเรียนที่มีผู้ประสงค์เข้าสู่กระบวนไกล่เกลี่ยจำนวน 711 เรื่อง แต่มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียง 51 เรื่อง โดยไกล่เกลี่ยสำเร็จ 47 เรื่อง กล่าวอย่างง่ายๆ ว่ากระบวนการนี้สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้สำเร็จเฉลี่ยเดือนละ 1.38 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนที่ในแต่ละปีมีจำนวนมากหลายพันเรื่อง
อันที่จริง นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ได้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งในที่ประชุม กทค. และ กสทช. มาแล้วหลายครั้งหลายหน ว่าควรต้องมีการทบทวนกระบวนการดังกล่าวเนื่องจากขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา รวมทั้งอาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ยิ่งไปกว่านั้นการแยกกระบวนการไกล่เกลี่ยออกมาจากขั้นตอนการจัดการเรื่องร้องเรียนตามกระบวนการปกติ ก็เท่ากับทำให้การจัดการเรื่องร้องเรียนต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่ดูเหมือนเรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ยังคงเพิกเฉย และดำเนินการเช่นเดิมต่อไป โดยในแต่ละเดือนมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพียง 1 – 2 เรื่อง
วาระ บมจ. ทีโอที ขอระงับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย
วาระนี้สืบเนื่องจาก บมจ. ทีโอที มีหนังสือแจ้งขอยกเลิกการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3Gกับ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน (MVNO) เนื่องจาก บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ผิดนัดชำระค่าใช้บริการค่าใช้บริการตั้งแต่ต้นปี 2558 บมจ. ทีโอที จึงต้องการใช้สิทธิบอกเลิกการให้บริการ อย่างไรก็ดี มาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดว่า "ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งหากผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการ ก็ต้องมีการแจ้งผู้ใช้บริการให้ทราบล่วงหน้า และต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ โดยต้องจัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการมาให้ กสทช. พิจารณาล่วงหน้าก่อน อย่างไรก็ตามกรณีนี้ผู้รับใบอนุญาตที่เป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการปลายทางยังคงไม่ได้จัดส่งแผนมาตรการเยียวยามายังสำนักงาน กสทช. แต่อย่างใด ซึ่งสำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการติดตามมาตรการเยียวยาจากทางบริษัท จึงรายงานความคืบหน้าของเรื่องนี้ให้ กทค. รับรู้เป็นวาระเพื่อทราบ
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติของเรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหา เพราะหากทาง บมจ. ทีโอที ระงับการให้บริการแก่ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการปลายทาง แต่หากห้ามไม่ให้มีการระงับบริการย่อมเท่ากับเป็นการสร้างภาระโดยไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการโครงข่ายอย่าง บมจ. ทีโอที ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ขึ้นแล้วหลายกรณี ดังนั้นในเรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ควรต้องเร่งจัดทำหลักเกณฑ์การพักหรือหยุดการให้บริการตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยวางหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมทั้งผู้รับใบอนุญาตที่เป็นผู้ให้บริการและผู้ให้บริการโครงข่าย รวมถึงหากเกิดปัญหาลักษณะเช่นนี้ขึ้น ก็ควรกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายแจ้งสำนักงาน กสทช. ทราบล่วงหน้าก่อนเป็นระยะเวลาพอสมควร เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงและหาทางออกที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการปลายทางต่อไป ส่วนในกรณีของ บจ. เอ็มคอนซัลท์ เอเชีย สำนักงาน กสทช. ก็ต้องเร่งรัดให้บริษัทจัดส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้ กทค. พิจารณาโดยเร่งด่วน