กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงกรณีสิทธิบัตรกวาวเครือ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 24, 2000 10:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรกวาวเครือ ให้แก่ผู้ขอรายหนึ่งจนเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนกันว่าจะเป็นการห้ามสิทธิบุคคลอื่นในการใช้กวาวเครือในตำรายา นั้น
นายพิพรรธน์ อินทรศัพท์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรกวาวเครือจริงตามขั้นตอนและระดับชั้น การพิจารณาตรวจสอบทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ แต่เป็นการขอจดทะเบียนในสูตรตำรับขององค์ประกอบ สมุนไพรกวาวเครือ ที่จะต้องมีองค์ประกอบอันได้แก่ กวาวเครือ น้ำนม สารอาหารรสหวาน ส่วนประกอบจาก พืชสมุนไพร และส่วนประกอบเพื่อแต่งสีและรสครบทั้ง 5 อย่าง โดยได้ระบุสัดส่วนขององค์ประกอบทั้งหมด ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากว่ามีผู้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรรายอื่นหรือมีบุคคลอื่นผลิตผลิตภัณฑ์โดยใช้กวาวเครือ ที่มีองค์ประกอบ หรือมีสัดส่วนแตกต่างไปจากนี้ก็ถือว่าไม่น่าจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรรายนี้ หลักเกณฑ์ การพิจารณาของผู้ตรวจสอบเป็นหลักปฏิบัติสากลและเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ การประดิษฐ์นี้เป็นการใช้ พื้นฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาต่อยอดความรู้ขึ้นไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีคำขอสิทธิบัตรที่ยังรอการพิจารณา รับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่มีกวาวเครือเป็นองค์ประกอบอีกหลายคำขอ ซึ่งหากมีสูตรองค์ประกอบหรือแม้แต่สัดส่วน ที่แตกต่างจากสิทธิบัตรข้างต้นแล้ว และสามารถนำไปใช้โดยมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเดิม กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะ พิจารณารับจดทะเบียนให้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะพิจารณารับจดทะเบียนในสิ่งประดิษฐ์ที่ใหม่ และมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ถือเป็นหลักมาตรฐานสากล
นายพิพรรธน์ อินทรศัพท์ ยังได้กล่าวชี้แจงด้วยว่า ที่มีการกล่าวว่ากวาวเครือเป็นสมุนไพร ที่มีในตำราของเก่าก็จริง แต่หากว่ามีผู้ค้นคิดสูตรส่วนผสมหรือสัดส่วนที่แตกต่างจากตำราดังกล่าวมากพอ ก็น่าจะรับจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2535 ก็ได้อนุญาต ให้มีการจดสิทธิบัตรยาได้อยู่แล้ว นอกจากนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตรมุ่งส่งเสริมให้เกิด การประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคนไทยสามารถจะนำหลักการดังกล่าวนี้มาใช้ในการพัฒนาต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ก่อนแล้วให้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำมาจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ต่อ ๆ ไป
สำหรับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการออกฤทธิ์ของยาต่าง ๆ นั้น นายพิพรรธน์อินทรศัพท์ ได้กล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะมีการนำตำรับยาใหม่ ๆ ออกใช้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับสิทธิบัตรหรือไม่ได้รับก็ตาม ผู้เป็นเจ้าของสูตรยาต่าง ๆ จะต้องนำไปขึ้นทะเบียนยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยของผู้ใช้ยาก่อนออกจำหน่ายซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นผู้ดูแล เรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ