กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--แมทคอส คอมมูนิวตี้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) มายาวนานกว่า 30 ปี ได้สร้างนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในระดับดีเด่นที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก สสวท. จึงต้องการที่จะขับเคลื่อนและยกระดับผลงานวิจัยของ บัณฑิต พสวท. เหล่านี้สู่สาธารณชน ให้เป็นที่รู้จัก และถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งให้งานวิจัยเหล่านี้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
สสวท. จึงได้จัดงาน "พสวท. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม" ในวันที่ 24 - 25 กันยายน 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง วิทยาศาสตร์พื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุค 4.0 และ การเสวนา หัวข้อเรื่อง "จากห้องแล็บสู่ SMEsและอุตสาหกรรมไทย" จาก ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คิดค้นนวัตกรรมเอ็นไซม์เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ ศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นจุฬาสมาร์ทเลนส์, ผู้พัฒนานวัตกรรมซิลเวอร์นาโน, ผู้คิดค้นอุปกรณ์สำหรับงานนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ไทย ดร.อรสา อ่อนจันทร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แก้วิกฤติยางไทย ด้วยงานวิจัยลู่วิ่งยางพารา และคุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าวรายการ ข่าว 3 มิติ นอกจากนั้นยังมีการระดมความคิดเพื่อหาทิศทางการทำวิจัยร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยใน ยุค 4.0 เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาร่วมใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า เชื่อมความต้องการของผู้บริโภค แต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและ มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีครบวงจรแบบ Smart Factory โดยรัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริม E-Commerce,
E-Document และ E-Learning ซึ่งล้วนเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสู่ยุคดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย ยังคงต้องการนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากงานวิจัยหรือการคิดค้นของฝีมือนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งบัณฑิตโครงการ พสวท. นับเป็นกำลังหลักของประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ช่วยกันสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่ประเทศเรื่อยมา
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวเสริมว่า การจัดงานนี้เป็นเวทีสำหรับบัณฑิต พสวท. ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สสวท. ได้นำเสนอผลงาน และนำชิ้นงาน สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมมาแสดงในงาน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีเสวนาการขับเคลื่อนผลงานวิจัยของบัณฑิต พสวท. สู่ภาคเอกชน โดยในการเสวนาแลกเปลี่ยนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บัณฑิต พสวท. มองเห็นเส้นทางสายอาชีพ หรืองานวิจัยที่เป็นที่ต้องการว่าความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนางานวิจัยในภาคเอกชน โดยตระหนักถึงความต้องการด้านกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ตลอดจนแนวโน้มความต้องการกำลังคนในภาคเอกชนของประเทศ ทั้งนี้ นักเรียนทุน พสวท. ที่จะเข้าร่วมฟังการเสวนานั้น เป็นผู้ที่ได้รับทุน พสวท. เพื่อศึกษาในระดับปริญญาเอกทั้งใน และต่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นที่เรียบร้อยทั้งทั้งที่มีหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ที่รอหน่วยงานต้นสังกัด
"ผลจากการจัดงานครั้งนี้ คาดว่า สสวท. จะได้ทราบความต้องการกำลังคนจากภาคเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทราบข้อมูลความสนใจของบัณฑิต พสวท. ที่สนใจทำงานในภาคเอกชน เพื่อเตรียมหาแนวทางการส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติงานวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (Talent Mobility) พร้อมทั้งได้ทราบทิศทางการทำวิจัยร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนของนักเรียนทุนรัฐบาล" ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว