กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันผันผวน โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 44.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 42.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 46.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปผันผวนเช่นกัน โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 54.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
สำนักสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration: EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 16 ก.ย. 59 ลดลง 6.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 504.6 ล้านบาร์เรล
สถานการณ์ในไนจีเรียวุ่นวาย อาทิ กลุ่ม Niger Delta Greenland Justice Mandate (NDGJM) เข้าโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ บริเวณ Niger Delta
Reuters รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.9 % และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.4 % อยู่ที่ 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อนึ่งอินเดียประกาศนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ปริมาณรวม 6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ต.ค.- พ.ย. 59 เพื่อเก็บในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR)
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล Petrobras ประกาศแผนลดการลงทุนช่วง พ.ศ. 2560-2564 วงเงินรวม 8.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16 % จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า) และจะขายสินทรัพย์ อาทิ แหล่งผลิตและท่อขนส่ง ในปี 59 นี้ วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และใน พ.ศ. 2560-2564 อีก 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลดภาระหนี้ที่สูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Ras Lanuf (กำลังการส่งออก 200,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อ 23 ก.ย. 59 เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ไปยังอิตาลี ทั้งนี้ล่าสุดลิเบียผลิตน้ำมันที่ระดับ 390,000 บาร์เรลต่อวัน
Reuters รายงานซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 170,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 7.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และผลิตเพิ่มขึ้น 120,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมัน ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 23 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 2 แท่น จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 418 แท่น
แหล่งผลิตน้ำมันในรัสเซียหลายแห่งเริ่มดำเนินการ อาทิ แหล่ง Messoyakha (กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน) และแหล่ง Messoyakha (กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน)
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบช่วงปลายสัปดาห์ปิดตลาดลดลง จากผู้ค้าคาดการณ์ว่าการประชุมกลุ่ม OPEC และระหว่างรัสเซีย ที่ประเทศแอลจีเรีย ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย. 59 จะไม่บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการตรึงปริมาณการผลิตน้ำมันที่เป็นรูปธรรม และในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวซาอุดีอาระเบียเสนอเงื่อนไขจะปริมาณลดการผลิต ถ้าหากอิหร่านยอมตรึงปริมาณการผลิตภายในปีนี้ ทั้งนี้ให้จับตากระแสข่าวจากการประชุมระหว่างกลุ่ม OPEC และรัสเซีย ที่จะมีรายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะๆ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนรุนแรง รัฐมนตรีพลังงานแอลจีเรียแสดงความเห็นว่าผลของการประชุมยังเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง หากการประชุมล้มเหลว ราคาน้ำมันดิบอาจร่วง ประกอบกับรัสเซียมีแผนเริ่มการผลิตน้ำมันจากแหล่ง Suzun กำลังการผลิต 240,000 บาร์เรลต่อวัน และแหล่งนอกชายฝั่ง Filnovsky กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามไนจีเรียยังมีความขัดแย้งต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers (NDA) กลับมาโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ หลังยุติบทบาทเพื่อเจรจากับรัฐบาล ตั้งแต่เดือน ส.ค. 59 โดยอ้างว่าได้โจมตีท่อขนส่งสำหรับส่งออกทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตโดยรวม จากการวิเคราะห์ทางเทคนิค คาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหว อยู่ในกรอบ 42.9-48.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI อยู่ในกรอบ 41.2-46.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ในกรอบ 39.4-45.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลง หลัง Department of Transportation Pipeline and Hazardous Materials Safety Administration ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ท่อขนส่ง Colonial จากเมือง Houston รัฐ Texas ไปถึง Greensboro รัฐ North Carolina กลับมาดำเนินการ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 หลังปิดดำเนินการกว่า 2 สัปดาห์ จากเหตุน้ำมันรั่วไหล และปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 680,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 12.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้น 44.0 % จากปีก่อน อยู่ที่ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานศรีลังกานำเข้าน้ำมันเบนซิน ช่วง ม.ค.- ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.9 % เฉลี่ยอยู่ที่ 220,000 บาร์เรลต่อวัน และ Platts รายงานอินเดียผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน ส.ค. 59 ลดลง 7.7 % จากเดือนก่อน อยู่ที่ 730,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53.7-59.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น จากข่าว Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมัน Yanbu Aramco Sinopec Refining Co. หรือ Yasref (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบียมีแผนหยุดดำเนินการเพื่อซ่อมบำรุง ในเดือน พ.ย. 59 เป็นเวลา 10-15 วัน และ Petroleum Bulk Procurement Agency (PBPA) ของแทนซาเนียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณรวม 1.3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน พ.ย. 96 อย่างไรก็ตาม ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้น 47,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง และหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้น 47.6 % จากปีก่อน อยู่ที่ 8.0 ล้านบาร์เรล ขณะที่ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20.3 % และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.1 % อยู่ที่ 21.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 ปี สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.9-56.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล