กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ป.กก.) เปิดเผยถึงโครงการ "ประชาสัมพันธ์และเตือนภัยด้านการท่องเที่ยว" ว่าเป็นโครงการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเตือนภัยด้านการท่องเที่ยวและให้คำแนะนำในการป้องกันภัย จากการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์ การเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในเรื่องการดำเนินคดีเมื่อนักท่องเที่ยวต้องขึ้นศาล ในปี 2559 กองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับโครงการในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต โดยผู้เข้าร่วมเสวนาในแต่ละจังหวัดประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กองมาตรฐานฯ ได้มีการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเตือนภัยนักท่องเที่ยว และอำนาจหน้าที่ของกองมาตรฐานฯ จำนวน 9 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส สเปนและเยอรมัน
"ที่ผ่านมา ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 29.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 5.10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.58 ในปี 2559 (มกราคม-กรกฎาคม) มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 19.54 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 11.87 โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศที่สร้างรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย และมาเลเซีย"
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวทำให้ต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรักษาภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ปัจจุบันนี้ นอกจากการมุ่งเน้นดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวแล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเฝ้าระวังติดตามปัญหาการหลอกลวง ข่มขู่ หรือการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก เพื่อรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แก้ไขปัญหา และดูแลช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อประสบเหตุ ซึ่งปัจจุบันมี 16 ศูนย์ ใน 14 จังหวัด และในกรุงเทพฯ มีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด 188 คน หากต้องการร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ Call Center (สุวรรณภูมิ) +66 2134 4077 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง