กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--มทร.ธัญบุรี
นักศึกษา มทร.ธัญบุรี และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ดวลทักษะทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่เวิร์กชอป 'เวอร์นาด็อก' เพื่ออนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมบ้านไทยพื้นถิ่นอ.ปากกราน จ.อยุธยา
ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า กิจกรรมเวิร์กชอปโครงการ International Workshop on Asian Heritage : IWAH 2016 ครั้งนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างนักศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จำนวน 12 คน และนักศึกษาปริญญาโทอีก 11 คน จาก Kyoto Institute of Technology หรือ KIT ประเทศญี่ปุ่น ลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น อ.ปากกราน จ.อยุธยา เป็นเวลา 12 วัน ซึ่งจะได้ลงมือปฏิบัติจริงในการเขียนแบบด้วยวิธีเวอร์นาด็อกบ้านไทยพื้นถิ่นที่มีอายุมากกว่า 100 ปี เรียนรู้เอกลักษณ์และภูมิปัญญาสมัยโบราณของคนรุ่นก่อน เกี่ยวกับบ้านไทยพื้นถิ่น และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและชี้ให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นพื้นถิ่น อันจะนำไปต่อยอดพัฒนาฝีมือการสร้างสรรค์และงานออกแบบต่อไป
นายธนพล ลิ่มถาวรศิริพงศ์ หรือต้น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า เมื่อได้รับโจทย์ว่าเป็นหมู่บ้านปากกราน จึงได้แบ่งกลุ่มทำงานด้วยกันแบบบัดดี้และเข้าไปเก็บข้อมูล เพื่อซึมซับความเป็นพื้นถิ่นร่วมกันกับเจ้าของบ้าน สำรวจบ้านทั้งภายในและภายนอก วัดและจดบันทึกขนาดสัดส่วนต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อนำมาคำนวณย่อในอัตราส่วนที่กำหนด ก่อนที่จะวาดจริงออกมาเป็นภาพ
"ได้เรียนรู้ความเป็นตัวตนของเราในอดีต ถึงแม้เราจะเขียนแบบให้สอดรับคนรุ่นใหม่ รองรับความต้องการในอนาคตก็ตาม ผมคิดว่าหากเราย้อนไปศึกษาความเป็นอดีตมากเท่าไร เส้นทางการทำงานด้านสถาปัตย์ของเราก็จะไปได้ไกลมากขึ้น เหมือนกับการยิงธนู ยิ่งดึงถอยหลังมากเท่าไร ศรธนูก็ไปได้ไกลมากเท่านั้น" ต้น กล่าว
ขณะที่ น.ส.รวี แก้วเก่ง (บีม) สาวสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน เล่าว่า การเขียนแบบด้วยวิธีเวอร์นาด็อกต้องใช้ความละเอียดอ่อนและสมาธิสูงมาก ต้องย่อสัดส่วนและวาดออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด เริ่มตั้งแต่ร่างโครงร่าง ลงรายละเอียดและเงา รวมถึงการเก็บบริบทหรือส่วนประกอบต่าง ๆ
บีม ยังเล่าต่อไปว่า "สถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น เป็นของมีคุณค่าและควรแก่การอนุรักษ์ ศึกษาทำความเข้าใจเป็นความรู้เพื่อนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน เวิร์กชอปครั้งนี้นอกจากสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้แล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่น สร้างความรู้สึกร่วมต่อการอนุรักษ์ ได้เห็นและร่วมงานกับรุ่นพี่ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเขาทุ่มเทกับการเวิร์กชอปมาก ขณะเดียวกันเวลาทำกิจกรรมสันทนาการก็เต็มที่มาก เรียกว่า Work Hard Play Hard สิ่งสำคัญที่มากกว่าความสนุกก็คือมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น"
อีกฝากฝั่งจาก Kyoto Institute of Technology อย่างเช่นหนุ่ม YUKI TSUJIMOTO เล่าความประทับใจในโครงการ IWAH 2016 ที่จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมฯ มทร.ธัญบุรี ว่า งานสถาปัตยกรรมของไทยสวยงาม มีความละเอียด แฝงไปด้วยภูมิปัญญาความคิดต่าง ๆ ที่มีความหมายในตัวเอง รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้โดยทำงานเขียนแบบคู่กับบัดดี้นักศึกษาไทย จนเกิดเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ มีส่วนร่วมอนุรักษ์ความเป็นพื้นถิ่นของไทย และจะเก็บเกี่ยวความรู้ ความสวยงามและความน่าทึ่งจากประเทศไทยครั้งนี้ไปบอกกับเพื่อน ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป
ปิดท้ายกับ SHIORI SAKANOUE ที่เล่าว่า การเขียนแบบด้วยวิธีเวอร์นาด็อกจะเขียนด้วยมือ แม้ในปัจจุบันงานส่วนใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนแบบก็ตาม จึงทำให้ตนได้ฝึกทักษะด้านนี้มากขึ้น สิ่งที่เห็นจากการลงพื้นที่ คือบ้านไทยพื้นถิ่นจะยกพื้นสูงเพื่อให้สอดรับกับสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นในเรื่องของภัยธรรมชาติโดยเฉพาะแผ่นดินไหว ส่วนเรื่องมาตรฐานความสามารถคนไทยนั้นค่อนข้างสูง สร้างงานออกมาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
SHIORI ยังแสดงความเห็นอีกว่า "การร่วมงานกับบัดนี้นักศึกษาไทยในการสร้างผลงานถือเป็นประสบการณ์ที่ดี เชื่อว่าหากไปเวิร์กชอปต่อที่ประเทศญี่ปุ่น มั่นใจว่าจะสนุก ท้าทายและเข้มข้นเหมือนกับโปรแกรมที่ มทร.ธัญบุรี จัดขึ้นในครั้งนี้แน่นอน"