กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางสาวอัญชุลี สิมะเสถียร รักษาการกรรมการผู้จัดการ บตท.พร้อมคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมในพิธีและสักขีพยานความร่วมมือครั้งนี้
นางสาวอัญชุลี สิมะเสถียร รักษาการกรรมการผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยว่า "พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจวันนี้เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)และ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ภายใต้"โครงการจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงิน 3,000 ล้านบาท"สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นอกจากการจัดซื้อสินเชื่อในครั้งนี้แล้ว บตท. และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยได้มีข้อตกลงร่วมกันในการศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกรรมร่วมกัน อาทิ การพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการในตลาดทุน ที่สอดคล้องกับพันธกิจหลักของบตท.ในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ โดยการออกตราสารเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ อาทิ การพัฒนาตราสารหนี้ MBS การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกรรม บตท. ตลอดจนการสนับสนุนกิจการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งการบริการให้กับลูกค้ารายย่อย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และนักลงทุน
นางอัญชุลี กล่าวเสริมว่า "ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารระดับอาเซียน ที่มีนวัตกรรมทางการเงินและการบริการจัดการที่น่าสนใจ และเป็นที่ยอมรับในด้านการบริการจัดการที่เป็นเลิศ โดย บตท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการผสานความร่วมมือ และร่วมมือกันดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และพัฒนาเศรษฐกิจประเทศชาติต่อไปในอนาคต ขอบคุณค่ะ"
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และบตท. นับเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของไทยรวมถึงแหล่งเงินทุนทางเลือกของสถาบันการเงินภายใต้กฎระเบียบทางการเงินใหม่ๆ
"สำหรับการทำธุรกรรมกับ บตท. ครั้งนี้ เป็นการขายสินทรัพย์ในรูปแบบที่เรียกว่าขายขาดหรือ True Sale ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินได้รับเงินทุนกลับมาเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจาก บตท. มีธุรกิจและแหล่งเงินทุนที่มีความเหมาะสมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่าธนาคารพาณิชย์ โดยในอีกมุมหนึ่งผู้กู้จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการขายพอร์ตสินเชื่อของธนาคารโดยยังคงได้รับอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมสามารถชำระเงินผ่านธนาคารได้เหมือนเดิมและหากมีความต้องการให้ธนาคารหักบัญชีเพื่อชำระเงินต่อไปก็สามารถทำให้โดยการให้คำอนุญาตแก่ธนาคารซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วจากธุรกรรมที่ผ่านมาของ บตท. กับธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีมาอย่างต่อเนื่อง"
"การขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยครั้งนี้เป็นเครื่องมือทางการเงินสำหรับบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับกับกฎเกณฑ์ของ Basel III ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารทุกแห่ง ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยขายพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ บตท. เพื่อเตรียมรับกฎเกณฑ์ของ Basel III โดยธนาคารสามารถนำเงินที่ได้ไปขยายฐานสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งฝากต้นทุนและรายได้ตามกฎเกณฑ์ใหม่นี้ ซึ่งซีไอเอ็มบียังคงมีเป้าหมายในการขยายฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ผ่านการออกโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษและสิทธิประโยชน์ต่างๆมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าซื้อบ้านใหม่ ซื้อบ้านมือสอง รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน และล่าสุดคือสินเชื่อสำหรับคนซื้อบ้านหลังแรก คาดว่าสิ้นปีพอร์ตสินเชื่อบ้านจะเพิ่มเป็น 6.4 หมื่นล้านบาท" นายสุภัคกล่าว