กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--24 คูณ 7
• ขยายกำลังการผลิตครั้งล่าสุดเพื่อรองรับประเทศไทยเข้าสู่ AEC
• ย้ำ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยูดี ทรัคส์ เพื่อรองรับตลาดภายในประเทศและตลาดโลก
กลุ่มธุรกิจรถบรรทุกวอลโว่ภูมิภาคเอเชีย โรงงานกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ ในประเทศไทย ฉลองครบ 40 ปีแห่งการก่อตั้งในประเทศไทย โดยล่าสุดลงทุนขยายโรงงานมูลค่า 2,000 ล้านบาท เสร็จสมบูรณ์
นางเฮเลน ซาฟมึล รองประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจรถบรรทุกวอลโว่ภูมิภาคเอเชียและกรรมการผู้จัดการโรงงานกรุงเทพฯ เปิดเผยภายหลังพิธีฉลองครบรอบการก่อตั้ง 40 ปีในประเทศไทยว่าตลอดระยะเวลา 40 ปี โรงงานกรุงเทพฯ ได้ขยายการลงทุนในประเทศไทย 2,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มสายการผลิตรถยูดี เควสเตอร์ โดยมีกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี ส่วนสายการผลิตวอลโว่ ทรัคส์ ได้ขยายมาเป็น 2,000 คันต่อปี
นางเฮเลน กล่าวว่าการขยายการลงทุนที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยูดี ทรัคส์ เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการขยายงานเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน หรือ AEC ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถวอลโว่ ทรัคส์ และ ยูดี ทรัคส์ จำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนและประเทศอื่นทั่วโลก
"เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่บริษัทแม่ที่ประเทศสวีเดนให้ความสำคัญอย่างมากในด้านการผลิต ดังนั้น เราจึงได้ขยายการลงทุนในครั้งล่าสุดเพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยูดี ทรัคส์ สำหรับตลาดโลก วันนี้เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่เราสามารถสร้างประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่สายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก"นางเฮเลน กล่าว
นางเฮเลน ย้ำว่าตลาดรถบรรทุกในภูมิภาคนี้ ยังคงมีแนวโน้มที่ดี ทั้งนี้เนื่องจากการตื่นตัวในด้านการขนส่งที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจโลจิสติคส์ ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการเปิดเสรีในด้านการขนส่งข้ามแดนภายหลังจากทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้เข้าสู่ AEC
ทางด้านนายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายรถวอลโว่ ทรัคส์ และยูดี ทรัคส์ เปิดเผยว่าการลงทุนล่าสุดในโรงงานประกอบมูลค่า 2,000 ล้านบาทนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดประเทศไทยและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้
"โรงงานประกอบรถบรรทุกแห่งนี้ เรามีความภาคภูมิใจอย่างมากที่บริษัทแม่ได้ตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยูดี ทรัคส์ ไปทั่วโลก ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีการประกอบรถชั้นสูงจากประเทศสวีเดนเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังวิศวกรคนไทย และสุดท้าย ประเทศไทยนอกจากจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว เรายังได้โอกาสในการส่งออกด้วย" นายกำลาภ กล่าว
โรงงานผลิตรถบรรทุกของโรงงานกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 77 ไร่ มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 10,000 คันต่อปี มีการจ้างพนักงานทั้งสิ้น 690 คน ในจำนวนนี้ 565 คนอยู่ในสายการผลิต โดยขณะนี้ โรงงานในประเทศไทยใช้ชิ้นส่วนภายในภูมิภาคอาเซียนที่ 50 %