กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดงาน Talent Mobility Fair 2016 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Plenary Hall 1 - 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "STI VISION" สร้างเวทีให้ภาคเอกชนเชื่อมโยงหาบุคลากรด้านงานวิจัยที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เรากำลังมีพัฒนาการในหลายมิติที่ไม่เคยพบมาก่อนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้กลายเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะทำให้สามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในและจะทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงดังที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน Thailand 4.0 อยู่ในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาก้าวข้ามจากระบบเดิมไม่ว่าจะเป็นระบบเกษตรแบบดั้งเดิม ระบบอุตสาหกรรมเบา ระบบอุตสาหกรรมหนัก ไปยังยุคของนวัตกรรม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในวันนี้ภาคเอกชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องของการลงทุนการสร้างนวัตกรรมและการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นอกจากรัฐบาลจะมีการจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนทำวิจัยมากยิ่งขึ้นแล้วยังมีสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งก็คือ เรื่องการขาดแคลนกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยหรือผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งโครงการ Talent Mobility เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และมีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีที่ผ่านมาโครงการนี้เปรียบเสมือนเครื่องมือในการอุดช่องว่างเรื่องกำลังคน โดยในปีที่ผ่านมาบุคลากรของภาครัฐทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐได้เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนแล้วประมาณกว่า 200 คน ที่น่ายินดีกว่านั้น คือ มีผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งก็คือนักศึกษาทั้งปริญญาตรีโทและเอกตามไปด้วยอีกกว่า 100 คนโดยในฐานะผู้จัดทำนโยบายยังคงอยากให้มีการขับเคลื่อนบุคลากรออกไปในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการสร้างขีดความสามารถของประเทศจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากซึ่งกำลังคนที่มีอยู่ในภาครัฐน่าจะช่วยเติมเต็มภาคเอกชนได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมางานวิจัยจะอยู่กับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยภาครัฐ ซึ่งผลงานวิจัยต่างๆ เหล่านั้น ก็มีการพัฒนาตามลำดับ แต่ยังติดขัดเรื่องของการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะนำงานวิจัยเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการปลดล็อคปัญหาดังกล่าว ความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยภาครัฐ กับภาคเอกชนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงดังกล่าวคือ บุคลากรด้านการวิจัย โดยในปัจจุบันเรามีบุคลากรวิจัยอยู่ในภาครัฐมากกว่า 30,000 คน แต่อยู่ในภาคเอกชนน้อยมาก จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างระหว่างบุคลากรด้านงานวิจัยระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนอยู่สูง ดังนั้น การที่ประเทศของเราจะก้าวไปสู่ประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมจะต้องมีการเตรียมเรื่องของสภาพแวดล้อมของภาคเอกชนควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรด้วย จึงเป็นที่มาของการเกิดโครงการ Talent Mobility ซึ่งเป็นนโยบายที่จะทำให้บุคลากรวิจัยภาครัฐ เข้าไปช่วยกิจกรรมของภาคเอกชนในเรื่องการวิจัยพัฒนา และจากปัญหาที่เราขาดบุคลากรในส่วนของการวิจัยภาคเอกชนนั้น หากเราจะสร้างบุคลากรทางการวิจัยให้กับภาคเอกชนในระยะเวลาอันสั้นคงเป็นไปได้ยาก อาทิ หากเราจะผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท เราต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ปริญญาเอก ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อความต้องการของภาคเอกชน ขณะเดียวกัน เราก็มีบุคลากรด้านงานวิจัยอยู่ในภาครัฐจำนวนมาก ถ้าเรามีนโยบายที่จะเคลื่อนย้ายบุคลกรเข้าไปช่วยภาคเอกชน ซึ่งเราสามารถดึงนักวิจัยรุ่นใหม่จากภาครัฐไปช่วยสนับสนุนภาคเอกชนด้วยแล้ว ก็จะเป็นการสร้างบุคลากรวิจัยให้กับภาคเอกชนได้อย่างยั่งยืน และเมื่อนักวิจัยกลับไปทำงานที่เดิม นักวิจัยก็สามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนโยบายดังกล่าว ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ภาคเอกชนมีบุคลากรงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้นได้ จากการดำเนินโครงการ Talent Mobility ที่ผ่านมาโดย สวทน. และหน่วยงานร่วมดำเนินการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี พบว่า มีการเข้าร่วมโครงการจากภาคเอกชนจำนวน 111 แห่ง ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมถึง 127 โครงการ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐเคลื่อนย้ายไปช่วยกิจกรรมของภาคเอกชน จำนวน 240 คน และมีการนำผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งเป็นนักศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเป็นการบ่มเพาะนักวิจัยในอนาคตอีก 157 คน
"ในอนาคต Talent Mobility จะขยายขอบเขตการทำงานให้มากขึ้น โดยแผนระยะต่อไปจะพยายามนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยงานในภาคเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการเสนอรัฐบาลในการยกเว้นหรือลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้เชี่ยวชาญที่มาจากต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับเอกชนไทยได้มากขึ้น นอกจากนี้ Talent Mobility จะมีการปรับรูปแบบการสนับสนุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง อาทิ การส่งเสริมให้นักวิจัยเข้าไปทำวิจัยร่วมกับเอกชนใน Food Innopolis หรือ ในกลุ่มอุตสาหกรรม 10 S-CURVE รวมไปถึงการมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งช่วยส่งเสริมให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไปปฏิบัติงานกับภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) ของ สวทช. ที่ช่วยส่งเสริมให้นักวิจัยภาครัฐเข้าไปช่วยวิจัยและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือกลุ่ม Start up รวมไปถึงความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจเรื่องการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในกับเศรษฐกิจไทยได้" ดร. กิติพงค์ กล่าว
ดร. กิติพงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดงานงาน Talent Mobility Fair 2016 ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเชื่อมโยงหาบุคลากรด้านงานวิจัยที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ และเป็นเวทีให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามาเชื่อมโยง จับคู่หานักวิจัยที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน ซึ่งในงานผู้ประกอบการสามารถมาปรึกษาได้ว่าจะสามารถเข้าถึงงานวิจัยได้อย่างไร และนักวิจัยจะช่วยภาคเอกชนได้ในมิติใดบ้าง ในด้านนักวิจัยจากหน่วยงาน หรือมหาวิทยาลัยภาครัฐ ที่มาร่วมงานก็สามารถทำให้ทราบว่างานลักษณะใดบ้างที่นักวิจัยสามารถเข้ามาช่วย หรือจะเข้ามาเชื่อโยงกับภาคเอกชนได้ รวมทั้งภายในงานยังมีเวทีในการเผยแพร่ความรู้ในมิติต่างๆ อาทิ การเสวนาหัวข้อ "Cross-Border Talent Mobility" กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติเพื่อเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยต่างชาติมาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนของไทย เสวนา "แนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) ของภาคอุตสาหกรรม" จากตัวแทนผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการเสวนา "Talent Mobility Model สำหรับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)" และยังมีเวที Tech Show เพื่อให้นักวิจัยจะได้แสดงข้อมูลให้ภาคเอกชนได้เห็นว่างานวิจัยมีประโยชน์อย่างไรบ้าง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างไรด้วย