กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย)
สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) จัดงานเสวนาในหัวข้อ "ธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและยาของสังคมไทย" เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องค่านิยม คุณธรรม และจริยธรรม ในร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลให้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ดัชนีการต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทยดีขึ้น
สืบเนื่องจากการตื่นตัวของทุกหน่วยงานในการเข้าไปให้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล ทางสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) เล็งเห็นว่าการที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมกันแบ่งปันข้อมูล วิวัฒนาการ และแนวทางการปฏิบัติในเรื่องธรรมาภิบาลของอุตสาหกรรมยาและสาธารณสุข ผ่านการจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง "ธรรมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและยาของสังคมไทย" นั้นช่วยสร้างวัฒนธรรมธรรมาภิบาลในระบบให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ พร้อมเป็นการร่วมกันตอกย้ำ ปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมและจิตสำนึก เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่สังคมไทยในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต โดยการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวคำปราศรัยในหัวข้อ แนวนโยบายภาครัฐของไทยในเรื่องธรรมาภิบาลของระบบสุขภาพ
"ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งเน้นนโยบายส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้มนโยบายพัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงองค์กรด้านสุขภาพของรัฐ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน" พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ กล่าว "ผมรู้สึกชื่นชมการดำเนินการที่ผ่านมาของภาครัฐ เอกชน และสภาวิชาชีพ รวม 26 องค์กร ที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาเพื่อพัฒนาเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย มุ่งสร้างระบบที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทั้งส่วนผู้ให้และผู้รับ แต่สิ่งที่ท้าทายคือการนำเกณฑ์จริยธรรมไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากทุกภาคส่วนทำงานในลักษณะที่สนับสนุน ช่วยเหลือเกื้อกูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน และดำรงจุดยืนในการสร้างธรรมาภิบาลในระบบอย่างเป็นรูปธรรม ผมเชื่อว่าประโยชน์นี้จะเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น โดยเน้นการใช้ยาอย่างเหมาะสมซึ่งช่วยลดอุบัติการณ์เชื้อดื้อยาได้อีกด้วย"
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา อาทิ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะอนุกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use หรือ RDU) กล่าวว่า "ยารักษาโรค เป็นหนึ่ง ในปัจจัย สี่ ที่ทุกคนต้องเกี่ยวข้องตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงพบการใช้ยาที่ "ไม่สมเหตุสมผล" เช่นการจ่ายยาที่เกินกว่าอาการหรือการใช้ยาที่พร่ำเพรื่อมีให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งผลพวงจากการใช้ยาไม่ถูกต้องนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งในเรื่องทรัพย์สินรวมไปถึงการสูญเสียชีวิต"
"เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทุกภาคส่วนควรเริ่มการป้องกันแบบองค์รวม โดยกระบวนการเริ่มตั้งแต่ที่ต้นน้ำคือหน่วยงานภาคเอกชน กลางน้ำคือบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีจริยธรรมที่เหมาะสม การให้ข้อมูลที่เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียง ไร้อคติ ตามหลักวิชาชีพ เพื่อให้ปลายน้ำนั่นคือประชาชนคนไทยได้รับความยุติธรรมในการรักษาพยาบาล ซึ่งจะดีกว่าการที่จะมาแก้ไขภายหลัง"
นอกจากความพยายามในแต่ละภาคส่วนแล้ว ยังได้มีความร่วมมือในระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบยา โดยการร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพ จำนวน 26 องค์กร เรื่องการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระบบยาเพื่อพัฒนาเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558 ภายใต้การนำของคณะอนุกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้กรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งเกณฑ์จริยธรรมดังกล่าวเพิ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเมื่อต้นปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา
ทางด้าน ภญ. บุษกร เลิศวัฒนสีวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) และในฐานะผู้จัดงานกล่าวว่า "การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการรวบรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบยามาร่วมกันถกถึงวิวัฒนาการในเรื่องธรรมาภิบาลและการแบ่งปันแบบอย่างที่ดีของแวดวงยา และเมื่อทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ที่ถูกต้อง เป็นหูเป็นตาให้แก่กันและกัน ก็จะทำให้สังคมเราขับเคลื่อนไปทิศทางที่ดีขึ้น อันจะเป็นการยกระดับสังคมไทย รวมไปถึงระบบสาธารณสุขและยา ซึ่งทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นถึงแนวทางการทำงานของสมาคมฯ ที่สอดรับกับมาตราการการป้องกันของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น (ปปช.) ของทางรัฐบาล ในการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม"
ทั้งนี้ พรีม่า เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งและดำเนินงานมาร่วม 46 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการเข้าถึงยานวัตกรรมที่ผ่านขบวนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดไปจนสนับสนุนสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ในการเลือกใช้ยาคุณภาพที่สามารถให้ผลการรักษาโรคได้สูงสุด โดยใช้หลักเกณฑ์จริยธรรมในการปฎิบัติงาน