กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--
ผนึกกำลัง 4 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายสมาคมอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตและกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อาชีพยุคเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายสมาคมอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และกรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนการศึกษา พัฒนาบุคลากรของประเทศไทย จัดทำโครงการอบรมเตรียมความพร้อมผู้เรียน สู่อาชีพยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในระดับอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรอบรมการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อาชีพสร้างสรรค์ 5 หลักสูตร พัฒนาสื่อและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่อาชีพเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมผู้เรียนในครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2555 - 2569) มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับสถานประกอบการโดยเน้นความร่วมมือในการจัดอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคี และการฝึกงาน การเตรียมความพร้อมกำลังคนรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในส่วนของการตั้งรับและเชิงรุก ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถทางภาษา และสมรรถนะกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานในระดับสากล สอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนสู่อาชีพยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Digital Economy)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายสมาคมอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และกรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการอบรมเตรียมความพร้อมผู้เรียน เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่อาชีพยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับอาชีวศึกษา เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษาที่มีฝีมือ มีคุณภาพ และมีความสามารถเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) และมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ในเชิงพาณิชย์ได้ การพัฒนาอาชีพสร้างสรรค์และเชิงพาณิชย์ต้องดำเนินการควบคู่กัน เชื่อมต่อการเรียนรู้ที่สามารถค้นหาศักยภาพ (Talent) ของผู้เรียน พัฒนาให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ของผู้เรียนสู่การทำงานจริง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ และประสบการณ์ตามสมรรถนะหลักใน 5 หลักสูตร
โดยรายละเอียดของทั้ง 5 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรอาหารไทยเชิงสร้างสรรค์ (Creative Food) คิดริเริ่มสร้างสรรค์อุตสาหกรรมอาหารให้เข้มแข็งมั่นคงสร้างมูลค่าเพิ่ม หลักสูตรท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในธุรกิจบริการท่องเที่ยว หลักสูตรสิ่งพิมพ์เชิงสร้างสรรค์ ปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีทันยุคทันสมัยเรียนรู้เท่าทันสื่อ หลักสูตรซอฟต์แวร์เชิงสร้างสรรค์ การค้นคว้าแหล่งการเรียนรู้จาก online เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ และหลักสูตรออกแบบและสร้างสรรค์ (Creative and Design Thinking for Trainer) เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงออกแบบให้แก่อาจารย์หรือบุคลากรที่จะเป็นผู้สอนหรือผู้แนะนำ โดยหลักสูตรเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิชาชีพมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนวิชาชีพ สามารถถ่ายโอนประสบการณ์การเรียนรู้จากสถานประกอบการ และบูรณาการความรู้ ทักษะจากศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในงานอาชีพ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
สำหรับท่านที่สนใจเข้าร่วมโครงการและร่วมเป็นสมาชิกในโครงการหน้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.chotproject.net โทร. 086 625 0770