กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--มูลนิธิเพี่อคนไทย
เริ่มแล้ว "งานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัครครั้งที่ 2" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเครือข่ายจิตอาสา ร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและประชาสังคมกว่า 20 องค์กร เพื่อตอกย้ำความสำคัญของอาสาสมัครในฐานะกลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเสวนาและกรณีศึกษาทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ด้านพม.เปิดพื้นที่ระดมความคิดการบริหาร "ศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ" หวังให้เป็นศูนย์กลางอาสาสมัครแห่งชาติในการสร้างความร่วมมือและส่งเสริมงานอาสาสมัครให้เข้มแข็งและยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้ง 2 วันรวมกว่า 800 คน
นางสาวนันทินี มาลานนท์ ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมวัฒนธรรมอาสาสมัครในสังคมไทยมากว่าทศวรรษ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสานต่อการจัดงานประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัครครั้งที่ 2 ว่า เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการงานอาสาสมัครทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ผู้เข้าร่วมงานมองเห็นมิติที่หลากหลายของงานอาสาสมัคร นำมาสู่การพัฒนาร่วมกันและยกระดับการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างเป็นระบบ
ผู้จัดการเครือข่ายจิตอาสา ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์งานอาสาสมัครในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทุกๆ ปี นับตั้งแต่การรวมพลังอาสาสมัครครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 ทำให้เห็นว่ามีคนธรรมดาจำนวนมากพร้อมที่จะทำงานอาสาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น
"จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2555 แสดงให้เห็นว่าองค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า 7 หมื่นแห่งมีการทำงานร่วมกับอาสาสมัครจำนวนรวมกว่า 8 แสนคน เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมในประเด็นต่างๆ อย่างไรก็ตาม พบว่า เกิดความท้าทายเกี่ยวกับงานอาสาสมัคร ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจของอาสาสมัครเอง รวมทั้งระบบบริหารจัดการอาสาสมัครที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ"
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เห็นความสำคัญของความท้าทายในงานอาสาสมัครดังกล่าว จึงได้จัดตั้ง"ศูนย์ประสานงานองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติ" ขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายจิตอาสาเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางองค์กรอาสาสมัครของประเทศ ในการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรอาสาสมัครทั้งภายในและระหว่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรทุกภาคส่วนที่มีอาสาสมัครหรือมีความต้องการสร้างระบบบริหารจัดการอาสาสมัครให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอาสาสมัครร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีกำหนดเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการศูนย์ดังกล่าวต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "งานอาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า งานจิตอาสาอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งในรูปของการให้เพื่อการกุศล (Charity) และการบริจาคในรูปแบบต่างๆ เช่น เวลา ความรู้ และสิ่งของ ส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากงานอาสาสมัครเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันความต้องการอาสาสมัครก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น เกิดการบริหารจัดการและเชื่อมต่อระหว่างอาสาสมัครและผู้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยจะตื่นตัวในเรื่องของการให้แต่การให้เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ผู้รับประโยชน์ ให้สามารถเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเองนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของงานอาสาสมัครในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าผู้ให้คำนึงความยั่งยืนของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น จะทำให้งานอาสาสมัครในประเทศมีทรัพยากรและสามารถขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้
ต่อด้วยเวทีเสวนา "อาสาสมัคร เส้นทางสู่การลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม" โดยผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย และ นายชอน วินเซนท์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก องค์การหน่วยอาสาสมัครประเทศอังกฤษ (Voluntary Service Overseas:VSO)
ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในสังคม คนส่วนใหญ่มักเรียกร้องให้คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหา จึงทำให้ปัญหานั้นยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยไม่คำนึงว่าปัญหานั้นๆ จะเกิดจากใคร ก็ย่อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด "ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสำคัญกับการเป็นจิตอาสา ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizen) มีการเปิดกิจกรรมเสริมหลักสูตร ด้วยการสร้างเงื่อนไขของการลงมือปฏิบัติและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง บางมหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งศูนย์อาสาสมัครขึ้นเพื่อส่งเสริมความเป็นอาสาสมัคร และเป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการอาสาและผู้ที่อยากเป็นอาสาสมัคร ขณะนี้มีศูนย์อาสาสมัครในมหาวิทยาลัยจำนวน 10 แห่งซึ่งจะมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัยในงานนี้"
ด้านนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรภาคสังคมที่เน้นการสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม กล่าวว่า ปัญหาสังคมมีขนาดใหญ่ จึงต้องการความร่วมมือจากคนจำนวนมากช่วยแก้ไข งานอาสาสมัครถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมได้ จากประสบการณ์ของมูลนิธิฯ พบว่าบทบาทของอาสาสมัครแบ่งได้ 2 ระดับคือ "อาสาสมัครผู้เชี่ยวชาญ" ที่ร่วมออกแบบกลไกสร้างเครื่องมือและบริหารจัดการ ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ จากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจมาร่วมทำงาน อาทิ นักวิจัย นักวิชาการ นักการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน นักการศึกษา และนักการตลาด เป็นต้น อีกระดับหนึ่งคือ "อาสาสมัครเฉพาะด้าน" ที่สังคมไทยยังต้องการคนอีกจำนวนมากมาร่วมลงมือปฏิบัติ แก้ปัญหาสังคมในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ต้องการอาสาสมัครพี่เลี้ยงนักเรียนทุน เพื่อให้กำลังใจและคำแนะนำแก่นักเรียนทุนร่วม 4,000 คนให้ได้เรียนหนังสือจนจบและเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ต้องการอาสาสมัคร "หมาเฝ้าบ้าน" ในการร่วมสอดส่องป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน หรือ ประเด็นคนพิการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ต้องการอาสาสมัครติดตามการจ้างงานคนพิการจำนวนมาก เป็นต้น
"จะเห็นได้ว่างานอาสาสมัครมีความสำคัญและต้องการขยายผลให้มีจำนวนหลายเท่าทวีคูณจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมของประเทศได้" ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยกล่าว
ขณะที่นายชอน วินเซนท์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก องค์การหน่วยอาสาสมัครประเทศอังกฤษ (Voluntary Service Overseas) หรือ VSO กล่าวว่า ปัจจุบันงานอาสาสมัครได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างยั่งยืน เนื่องจากงานอาสาสมัครมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมอันดี ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ "งานอาสาสมัครได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ร่วมลงนามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกทั้ง 17 ข้อ (SDGs) โดยได้นำมติขององค์การสหประชาชาติมาประยุกต์ใช้ด้วยการบูรณาการงานอาสาสมัครสู่สันติภาพและการพัฒนา ทั้งนี้งานอาสาถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว"
สำหรับงาน "ประชุมระดับชาติด้านการอาสาสมัคร ครั้งที่ 2" นี้ ประกอบด้วย เวทีเสวนา การนำเสนอกรณีศึกษาหรือผลงานทางวิชาการ และการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับงานจิตอาสาใน 8 ประเด็นคือ 1. กระบวนการอาสาสมัคร:เส้นทางสู่การสร้างพลเมืองเพื่อลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม 2. บทบาทของสถาบันการศึกษาในการส่งเสริมงานอาสาสมัคร 3. บทบาทภาคธุรกิจกับการส่งเสริมงานอาสาสมัคร 4. การพัฒนางานอาสาสมัครสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม 5. แนวโน้มระดับโลกด้านงานอาสาสมัคร 6. บทบาทภาครัฐบาลในการสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการอาสาสมัคร 7. การเพิ่มพูนสมรรถนะและผลกระทบจากการทำงานอาสาสมัคร และ 8.กระบวนการอาสาสมัครกับการแก้ไขปัญหาสังคม