กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าพัฒนาระบบการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน (สก.2) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลและพิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการทราบได้ทันทีภายใน 3 นาที จากเดิมการพิจารณาอนุญาตใช้เวลา 10 – 30 วัน โดยร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ "โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E License" ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. เตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบำบัดและกำจัดกากของเสียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมจากระบบเอกสารเป็นระบบไร้กระดาษหรือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-License) ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบ Internet โดยมีเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาตและแจ้งผลการพิจารณาในระบบไร้กระดาษ ครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตและแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบในเวลาไม่เกิน 3 นาที ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ทดลองนำร่องนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับบำบัด/กำจัดที่ร่วมโครงการและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมาทำงานร่วมกันดำเนินการให้สมองกลสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและสามารถขยายผลไปยังผู้ประกอบกิจการรายอื่นๆ เพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 – 2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นเดียวกัน
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการดำเนินงานให้แพร่หลายมากขึ้นนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงพัฒนาระบบสารสนเทศการจัดการกากอุตสาหกรรม (E-license) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่และแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบทันทีในเวลานั้น เป็นช่องทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการบำบัดและกำจัดกากของเสียให้เข้าสู่มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในการขออนุญาตนำของเสียออกนอกบริเวณโรงงานให้เกิดการเข้าถึงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นายมงคล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการยื่นขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) สามารถดำเนินการได้ 2 แบบคือ การยื่นขออนุญาตเป็นระบบเอกสาร และการยื่นขออนุญาตระบบไร้เอกสารหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อคำขอฯ ได้ยื่นเข้ามาที่กรมโรงงานฯ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดก็ตาม เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้พิจารณาการอนุญาต ซึ่งสถิติปี 2557 - 2558 การพิจารณาการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยเจ้าหน้าที่มีจำนวนคำขอรวมประมาณ 80,000 คำขอ มีรายการกากอุตสาหกรรมที่ต้องพิจารณารวมประมาณ 500,000 รายการ ในบางช่วงเวลาทำให้คำขอของโรงงานผู้ก่อกำเนิดหลายรายใช้เวลาพิจารณานานมากกว่า 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเป็นการรองรับปริมาณคำขอที่จะเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายเร่งรัดให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบบริหารจัดการฯ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E License ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพิจารณาอนุญาตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล และตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยทั่วไปมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประมาณ 10 – 30 วัน ขึ้นกับจำนวนรายการในคำขอฯ ที่โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมแต่ละรายยื่นขออนุญาต เมื่อใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ จะสามารถลดเวลาเหลือเพียงไม่เกิน 3นาที ซึ่งระบบนี้จะรองรับเฉพาะการขออนุญาต สก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
สำหรับรูปแบบการพิจารณาอนุญาต สก.2 โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 โรงงานผู้ก่อกำเนิดยื่นขออนุญาต สก.2 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Internet)
ขั้นตอนที่ 2 ระบบฯ ตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาต กับสารสนเทศการรับบำบัด/กำจัดของเสียของโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัดแต่ละราย
ขั้นตอนที่ 3 เฉพาะรายการที่ Matching ตรงกัน ระบบฯ จะพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ ในขณะที่รายการที่ไม่สามารถ Matching ได้ จะเข้าสู่ระบบการพิจารณาอนุญาตปกติโดยเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ การดำเนินงานพิจารณาอนุญาต สก.2 รูปแบบใหม่ถือเป็นการพิจารณาอนุญาตโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การพิจารณาอนุญาต สก.2 เกิดความรวดเร็ว ชัดเจน เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด
นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ในระยะแรกนำร่องบริษัทผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ราย รวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี โดยเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการประกอบการรับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท บางปู เอนไววรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 3.บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 4.บริษัท สุขเจริญทรัพย์ วังเย็น จำกัด 5.บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน)7.บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 9.บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด 10.บริษัท เอส ซีไออีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด 11.บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) 12.บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด และ13.บริษัท ไมโครไบโอเทค จำกัด เป็นการนำร่องเพื่อพิจารณาผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดรหัสของเสียและรหัสวิธีบำบัด/กำจัดของเสียที่ผู้รับดำเนินการทั้ง 13 ราย ที่สามารถดำเนินการได้จริงและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์
ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระยะแรก จะใช้เวลาดำเนินงาน 6 เดือน นับจากวันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานตามโครงการนำร่อง ดังนี้
1.จัดทำและลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
2.จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดทำเกณฑ์การอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Auto E License)
3.จัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
4.ปรับปรุงระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ Auto E License ซึ่งเป็นระบบที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประกอบการบำบัดและกำจัดกากของเสียเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
5.ดำเนินการปฏิบัติงานในระยะเวลา 6 เดือน และการประเมินผล
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนำร่องนี้แล้วเสร็จ จะมีการนำระบบการพิจารณาอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยปัญญาประดิษฐ์ ไปขยายผลใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการรับบำบัด/กำจัดของเสียได้ทั้งหมด ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาต โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด ต่างก็ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นกัน
สำหรับผู้ประกอบการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2354 3183 หรือเข้าไปที่www.diw.go.th