กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ วางวิสัยทัศน์มุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลาง "นวัตกรรมทางภาษา" ของไทย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ "บันไดสู่เป้าหมาย 5ขั้น" ของ สจล. ในการเดินหน้าสู่ความเป็นสถาบันชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 และนำพาสจล.สู่ความเป็นสถาบันระดับโลกในอนาคตอันใกล้
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า "ความรู้ความเชี่ยวชาญทางภาษาคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เราติดต่อสื่อสารกับนานาประชาคมโลกได้ การจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของ สจล. ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ผลิตบัณฑิตให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก และมีความพร้อมต่อสภาวะที่โลกและวิทยาการกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว"
โครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์เป็นโครงการยกระดับภาควิชาเป็นคณะ โดยการปรับปรุงทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์เพื่อต่อยอดเป็นคณะใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพและตอบสนองความต้องการในประชาคมโลก และยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาสถาบันเพื่อเป็นหนึ่งในสิบของอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดตั้ง โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสจล. คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อเป็นศูนย์กลางภาษาและวัฒนธรรมของกรุงเทพ(Language and Culture Hub of Bangkok) อีกด้วย
รศ. ดร.จิราภา วิทยาภิรักษ์ รักษาการคณบดี คณะศิลปศาสตร์ สจล. กล่าวว่า "คณะศิลปศาสตร์ สจล. มีพันธกิจในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการเรียนการสอนภาษา มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ควบคู่จริยธรรม มีคุณค่าต่อประเทศและนานาชาติ ผลิตผลงานวิจัย นวัตกรรมและบริการทางวิชาการเพื่อสนับสนุนให้สจล. ก้าวสู่ความเป็นเลิศตลอดจนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยบนรากฐานความเป็นไทย"
หลักการขององค์ความรู้ในคณะศิลปศาสตร์ สจล. ประกอบด้วย 8 ส่วนสำคัญ คือ การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ, ภาษาและการสื่อสาร, ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence), ทักษะการเจรจาต่อรอง, การพัฒนาทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น, ภาวะผู้นำ, การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม
คณะศิลปศาสตร์ สจล. ประกอบด้วยหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาไทย และกำลังจะเปิดภาควิชาภาษาจีนและภาควิชาการท่องเที่ยวและโรงแรมในอนาคตอันใกล้ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (การสอนภาษาอังกฤษเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งภาควิชาศิลปศาสตร์ประยุกต์ได้ผลิตบัณฑิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้นเกือบ1,000 คน ในจำนวนนี้ยังมีนักศึกษาระดับปริญญาโท โครงการความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา "โครงการไทยเข้มแข็ง" คณะศิลปศาสตร์ สจล. มีความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงการอบรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ทางด้านภาษาและวัฒนธรรมและสังคม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยโตไก, สถาบันเทคโนโลยีฟูกูโอกะ และ มหาวิทยาลัยเมจิ
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก เช่น ความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย บริหารจัดการระหว่างคณะศิลปศาสตร์สามพระจอม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พระนครเหนือ และลาดกระบัง รวมทั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี) และความร่วมมืออื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น กรรมการประเมินภายนอกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กรรมการวิชาชีพทางด้านภาษา มนุษย์ และสังคมให้กับสมาคมวิชาชีพระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น
ทางด้านฝึกอบรมบริการวิทยาการแก่ชุมชน มีการจัดอบรมระยะสั้น เช่น ภาษาอังกฤษธุรกิจ ภาษาอังกฤษธุรกิจการบิน ภาษาอังกฤษธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม ภาษาอังกฤษเพื่องานอาชีพ การใช้คอมพิวเตอร์ภาษาญี่ปุ่นในการปฏิบัติงาน เทคนิคการทำข้อสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น ฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในต่างประเทศ เป็นต้น
คณะศิลปศาสตร์ สจล. ยังมีแผนที่จะก่อตั้ง "ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน" ซึ่งประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ Test Center, Language Center และ ASEAN Center เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาการเรียนรู้อย่างครบวงจร