กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ตามที่ตกเป็นกระแสข่าวอยู่ต่อเนื่องพักใหญ่ มิวสิควิดีโอ "เที่ยวไทยมีเฮ" นำทีมโดย นักแสดงศิลปะประยุกต์ที่ดังไกลระดับโลก "เก่ง- ธชย ประทุมวรรณ" ฟีเจอร์ริ่งคู่กับนักร้องสาวชื่อดัง "ฟิล์ม-บงกช เจริญธรรม" แต่ไฮไลต์ที่ใครๆ ก็กล่าวถึง คือ การที่มีผู้แสดงแต่งกายในชุดทศกัณฐ์พร้อมเหล่าเสนายักษ์พาชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศไทยและทำกิจกรรมต่างๆ เช่น หยอดขนมครก ขับโกคาร์ท ขี่เจ็ทสกี เล่นว่าว ถ่ายเซลฟี่ ฯลฯ ซึ่งควบคุมการผลิต โดย "อ๊อด-บัณฑิต ทองดี"
มิวสิควิดีโอ "เทียวไทยมีเฮ" จึงตกเป็นกระแสสังคมระดับประเทศ พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นจากสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และในโลกออนไลน์ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุน และกลุ่มที่เห็นว่าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรม เชิญทีมงานผู้ผลิตมิวสิควิดีโอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อปรึกษาหาทางออกของมิวสิควิดีโอนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปโดยการตัดฉากบางฉากที่เกี่ยวกับทศกัณฐ์ออก ร้อยละ 40
เหตุนี้จึงเป็นที่มาของงานเสวนา "เที่ยวไทยมีเฮ: หัวโขนกับป็อปคัลเจอร์" จัดโดย หลักสูตรการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ ร่วมกับ หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงศิลปะดั้งเดิม และประยุกต์ รวมถึงสื่อ อาทิ คุณบัณฑิต ทองดี ผู้กำกับ คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ จากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ThaiPBS คุณอานันท์ นาคคง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณวิศเวศ วัฒน-สุข จิตรกรวาดภาพระดับแนวหน้าของประเทศไทย เพื่อร่วมพูดคุยถึงการนำเสนอวัฒนธรรมไทย ในบริบทการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในสังคมยุคปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า "จากกรณีมิวสิควิดีโอ "เทียวไทยมีเฮ" ตอนแรกผมเข้าใจว่า ฝ่ายหนึ่งคลาสสิก อีกฝ่าย Pop Culture เห็นใจฝ่ายคลาสสิกว่าเขามีกรอบจารีต
อีกทางก็เข้าใจฝ่าย Pop Culture เขาต้องการสร้างสรรค์ให้เข้ายุคสมัย ตามทฤษฎี Pop Culture เขาไม่มองถึงเรื่องวัฒนธรรมชั้นสูงว่าเคยมีความหมายที่เข้มข้นมาอย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจจากทั้งสองฝ่าย"
"การนำของสูงลงมาเล่นในมิติของ Pop Culture ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าไม่เกินเส้นที่คนทั่วไปยอมรับได้ เช่น ถ้าเอาเศียรพระไปประยุกต์เป็นของประดับร้านเสื้อผ้า หรือไปทำเป็นดุมราวบันได อันนี้คนไทยทั้งประเทศก็คงไม่สามารถยอมรับได้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ กล่าวเสริม