กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--กรมศิลปากร
ข่าวจากฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรมศิลปากร แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทุนพัฒนาวิชาการ และทุนการศึกษาของมูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา จำนวน 32 ทุน เป็นเงิน 660,000 บาท และทรงเปิดนิทรรศการเรื่อง "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระผู้มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา" ณ ห้องดำรงราชานุภาพ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นปูชนียบุคคลที่ทรงประกอบพระกรณียกิจสำคัญต่อประเทศชาตินานัปการ ทรงได้รับสมัญญาว่า "พระปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย" และ "บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" เฉลิมพระเกียรติในฐานะที่ทรงวางรากฐานการปกครองของไทยและเป็นผู้รอบรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อย่างไรก็ตาม พระกรณียกิจสำคัญซึ่งถือเป็นพระกรณียกิจแรกของพระองค์ต่อประเทศชาติ และเป็นพระกรณียกิจที่ทรงรักและสนพระทัย รวมทั้งการปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดพระชนมชีพ คือ "งานด้านการศึกษาของชาติ"
พระองค์ทรงสนพระทัยและมีบาทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาของชาติ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการและอธิบดีกรมธรรมการ พระกรณียกิจด้านการศึกษาของพระองค์มีหลายประการ เช่น ทรงวางหลักการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของประเทศ ทรงปรับปรุงหลักสูตรตำราเรียนขึ้นใหม่ โดยทรงนิพนธ์ตำรา "แบบเรียนเร็ว" ขึ้น ทรงเตรียมโครงการประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมือง เพื่อขยายการศึกษาให้เผยแพร่ออกไป เป็นต้น ท่านทรงได้รับการยกย่องให้เป็นนักปราชญ์แห่งแผ่นดินประจักษ์พยานจากงานพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งมากมาย ทรงเห็นคุณค่าในเรื่องข้อมูล จึงทรงรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้หลายประเภททั้ง โบราณวัตถุ หนังสือ เอกสาร และภาพถ่าย
การจัดนิทรรศการนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้คัดสรรเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงถึงพระกรณียกิจด้านการศึกษา ตั้งแต่พุทธศักราช 2424 เป็นต้นมา นับเป็นเอกสารที่ล้วนมีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพัฒนาการทางการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการเรื่อง "สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระผู้มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา" ได้ที่หอจดหมายเหตุฯ จนถึงวันที่ 21 ก.ค. 2543
สนใจติดต่อสอบถามที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ โทร. 282-1847--จบ--
-สส-