กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี
โดย นางเจเน็ต เฮนรี่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี
การผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลกอาจจะเริ่มหมดลง แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังยังคงหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป ... หากไม่ใช้มาตรการการคลังลดความไม่สมดุลของโลก การเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงต่อจากนี้
แม้ธนาคารกลางทั่วโลกได้ทุ่มสุดตัว การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงเชื่องช้าและอัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอเช่นเดิม การประมาณการเศรษฐกิจของเราสำหรับสองปีข้างหน้า สะท้อนว่าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อความสามารถของธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มลดลงและประสิทธิผลของมาตรการปัจจุบันยังไม่ชัดเจน นโยบายการคลังเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอและควรจะต้องมีขนาดใหญ่และตรงเป้าหมายมากขึ้น เพื่อที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจให้ได้ในระยะยาวและลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่คอยส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด แม้ว่าทางออกนี้ดูจะตรงไปตรงมา แต่อุปสรรคทางการเมืองและเชิงสถาบันสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงจะเชื่องช้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องอยู่ในระดับต่ำต่อไป และบ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านการเติบโตและเสถียรภาพทางการเงินยังจะมีอยู่ต่อไป เมื่อคำนึงถึงความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้น นั่นย่อมหมายความว่านโยบายด้านเศรษฐกิจในช่วงสองปีข้างหน้าอาจจะเน้นด้านเศรษฐกิจจุลภาคมากขึ้นจากเดิมที่เป็นด้านมหภาค
การลงคะแนนเสียง 'Brexit' ของสหราชอาณาจักรอาจจะไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหรือยุโรปปรับตัวเป็นขาลงในทันทีดังที่หลายฝ่ายเป็นกังวล แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระดับหนี้ยังคงสูงกว่าก่อนวิกฤตการเงินปีค.ศ. 2008 และการเติบโตด้านผลิตผลยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่ามาก การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตหลัก ในขณะที่การการลงทุนยังคงซบเซาและการค้าโลกอย่างมากได้แค่ทรงตัว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจนน่ากังวล
การผ่อนคลายทางการเงินยังคงไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับหลายประเทศทั่วโลกและยังคงมีมาตรการตัวเลือกที่ยังไม่ถูกนำออกมาใช้ อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เช่น บีโอเจ และ อีซีบี ไม่ได้เพิ่มมาตรการในการประชุมนโยบายการเงินหลายรอบที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความกังวลและข้อสงสัยในทั้งด้านประสิทธิผลของนโยบายการเงินและข้อจำกัดทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรการ QE ในช่วงต่อไป และความกังวลดังกล่าวมีแต่จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่ว่านโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวจะรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่ และเป้าหมายเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนหรือแม้กระทั่งแทนที่ด้วยแนวทางนโยบายการเงินรูปแบบใหม่หรือไม่
ในขณะที่ข้อถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป เสียงที่เริ่มดังขึ้นคือการเรียกร้องให้อีกฟากหนึ่ง คือ นโยบายการคลัง เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพยายามฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่งอีกครั้ง ประธานเฟดรายสาขาคนหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ใช้นโยบายด้านการคลังและด้านอื่นๆมาช่วยยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว แม้ว่าธนาคารกลางอื่นอาจจะไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ดูเหมือนว่าจะมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องพึ่งพานโยบายทางการคลังมากขึ้น ข่าวดีก็คือว่ามันได้เริ่มขึ้นแล้ว การปฏิรูปภาษีในกลุ่มประเทศ OECD ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการเติบโตในปีที่ผ่านมา และการเติบโตของการใช้จ่ายภาครัฐทั่วโลกในปีนี้มีระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 นโยบายที่ผ่อนคลายทางการคลังในกลุ่ม G7 และการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน ตุรกี ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่งผลให้เราปรับประมาณการการใช้จ่ายภาครัฐในปีหน้าสำหรับทั่วโลกขึ้น
การกระตุ้นอุปสงค์ในระยะสั้นอาจจะมีส่วนช่วยในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกยังขาดการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่หากเราต้องการให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มหนี้ภาครัฐและความกังวลต่อเสถียรภาพการคลัง ภาครัฐควรจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะใช้มาตรการการคลังลดความไม่สมดุลของโลก
ก่อนอื่น ควรจะมีขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเยอรมนี จีน และญี่ปุ่น ซึ่งยังคงสร้างแรงกดดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเกินไป อนึ่ง เพื่อหนุนอุปสงค์ในประเทศ ญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้นเพื่อลดการออมที่สูงเกินไปของภาคธุรกิจ เช่น การเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งในที่สุดอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนความคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะเงินฝืดในประเทศ สำหรับเยอรมนี การลดระดับเงินออมของรัฐบาลผ่านการลงทุนภาครัฐที่สูงขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ส่วนในประเทศจีน หลักๆต้องลดการออมในภาคครัวเรือน
เราคาดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการใช้มาตรการจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบ่งชี้ว่าการเติบโตและเสถียรภาพทางการเงินของเศรษฐกิจโลกอาจจะเลวร้ายลง อันที่จริง จากประสบการณ์วิกฤตปี 2007-08 หลายฝ่ายเคยกล่าวหาว่าเงินออมที่มีขนาดใหญ่เกินไปจากประเทศเหล่านี้ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรถูกบิดเบือน ส่งผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อและวิกฤตการเงินโลกในที่สุด
การเติบโตที่อ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในประเทศอื่นๆบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวของเฟดมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อไปและการลดการผ่อนคลายทางการเงินจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปี 2017 จะไม่เป็นเพียงปีแห่งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แต่จะมีนโยบายด้านอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เราไม่คาดว่าจะเห็นการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่หลายแห่งเริ่มเผชิญกับปัญหา carry trade (การลงทุนระยะสั้นเพื่ออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า) อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบเฉพาะเจาะจงเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น หากความไม่สมดุลในระดับทวิภาคียังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาตรการกีดกันการค้าที่เฉพาะเจาะจงอาจจะเริ่มมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากความแตกต่างระหว่างอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินและสินทรัพย์ที่แท้จริงอื่นๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ ความกังวลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดมาตรการอื่นๆเพื่อลดปัญหานี้ เช่น ภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งอื่นๆ
โดยสรุป การคาดการณ์ของเราสำหรับเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยคาดว่าการเติบโตปีนี้จะขยับลงสู่ระดับ 2.1% (ลดลงเมื่อเทียบกับ 2.4% ในปี 2011-2015 และ 3.5% ในปี 2005-07) โดยการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของเศรษฐกิจยุโรปช่วงครึ่งปีแรกช่วยชดเชยการชะลอตัวของฝั่งสหรัฐฯในบางส่วน ในปี 2017 เราคาดว่าการเติบโตในยุโรปจะอ่อนแอลงแต่ในสหรัฐอเมริกาจะปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในละตินอเมริกาที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนี้ เราได้ออกประมาณการสำหรับปี 2018 เป็นครั้งแรก การคาดการณ์ของธนาคารกลางส่วนที่ระบุว่าเวลาจะเป็นตัวเยียวยาปัญหาทุกอย่าง หรือ สองปีจากนี้เศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติทั้งในด้านการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อ เป็นมุมมองที่แตกต่างจากทางเรา ดังนั้น หากต้องใช้คำพูดสั้นๆอธิบายการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2018 ของเรา นั่นก็คือ 'คล้ายเดิม' โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.5% ซึ่งปรับขึ้นจากปี 2017 เพียงเล็กน้อย