กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 11/2559 ว่า ที่ประชุมได้รายงานภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งเบิกจ่ายได้ จำนวน 6,515,031,777 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.26 โดยหน่วยงานที่เบิกจ่ายได้ตามเป้าเรียงตามลำดับ ดังนี้ กรมการศาสนา 94.09 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 93.22 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 91.50สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 88.25 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 88.07 และกรมศิลปากร 80.34 ซึ่งการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 นั้น สามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 4.33 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ที่ประชุมผู้บริหารและทุกหน่วยงานในสังกัด วธ. นำปัญหาและอุปสรรคไปแก้ไขในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เพื่อเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ตรงตามเป้าหมายต่อไป
นายวีระ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการเผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมให้ตั้งคณะโขนเด็กในสถานศึกษา โดยมอบหมายให้สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งกำกับดูแลวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง ในเบื้องต้นมีแนวคิดมอบให้วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่ง เป็นหน่วยงานนำร่องในการส่งเสริมการเรียน การสอนการแสดงโขนเด็ก โดยจะมีการส่งครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์แต่ละแห่งลงพื้นที่ไปช่วยฝึกสอนให้เด็กและเยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับโขนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดการเรียน การสอน ในวิทยาลัยนาฏศิลป์แต่ละแห่งอาจจะมีการเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเรียนการแสดงโขน เข้ามาสมัครเรียนกับครูจากวิทยาลัยนาฏศิลป์แต่ละแห่ง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการจัดทำหัวโขนที่มีขนาดเหมาะสม และมีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใช้ในการฝึกซ้อมและแสดง เนื่องจากในปัจจุบันการแสดงโขนเด็กยังไม่มีหัวโขนที่เหมาะสม รวมทั้งมีขนาดและน้ำหนักมาก ไม่เอื้ออำนวยในการแสดงของเด็ก อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ที่ประชุมหารือเรื่องการส่งเสริมให้มีการประกวดการแสดงโขนเด็ก เพื่อเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความสามารถและเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่
นายวีระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการเตรียมการจัดงานประเพณีลอยกระทงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเบื้องต้นการจัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทง ในกทม. วธ.ร่วมกับหน่วยงานภาคีจัดงาน "ลอยกระทง วิถีไทย" ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณสะพานพระราม 8 โดยจะมีกิจกรรมการสาธิตการทำกระทงประเภทอนุรักษ์และสร้างสรรค์ การประกวดขบวนแห่ การแสดงพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนในภูมิภาคจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมริมแม่น้ำสำคัญๆ อาทิ งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ที่แม่น้ำปิง จังหวัดตาก งานประเพณีลอยกระทงที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และงานประเพณีลอยกระทง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ แม่น้ำยม จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น
นายวีระ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการสำรวจต้นไม้ที่มีคุณค่าของชาติและมีประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงใน กทม. ตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อประกาศเป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาติ โดย วธ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบดำเนินการคัดเลือกและเผยแพร่ต้นไม้ที่ทรงคุณค่า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การท่องเที่ยว โดยพิจารณาจากอายุ ขนาด ความสูง และประวัติศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดส่งข้อมูลการสำรวจต้นไม้ จำนวน 527 ต้น มายังคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะดำเนินการประมวลผลข้อมูลและคัดเลือกต้นไม้ที่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ต่อไป