กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 แจงผลการศึกษาการผลิตการตลาดสับปะรดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 4 จังหวัด พื้นที่ปลูกรวม 416 ไร่ เกษตรกรเลือกปลูกพันธุ์สับปะรดสายน้ำผึ้งมากที่สุด พร้อมแจงต้นทุนการผลิตและวิถีการตลาดของเกษตรกร แนะเดินหน้าพัฒนาสายพันธุ์ ใช้ระบบน้ำหยด และระบบสปริงเกอร์ ทำผลผลิตออกนอกฤดู เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเศรษฐกิจการผลิตการตลาดสับปะรดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตและการตลาดสำหรับนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้เกษตรกรใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนผลิตสับปะรด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการพัฒนาการบริหารจัดการระบบการผลิตการตลาดสับปะรดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่าง จำนวน 84 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 15 ราย ผลการศึกษาพบว่า
เนื้อที่ปลูกสับปะรดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 4 จังหวัด ปี 2558 รวม 416 ไร่ แบ่งเป็นปลูกแบบแปลงเดี่ยว จำนวน 358.5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 86 และปลูกแซมสวนยางพารา จำนวน57.5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกปลูกพันธุ์สายน้ำผึ้ง ร้อยละ 76 ปัตตาเวีย ร้อยละ 14 สายพันธุ์อื่นๆ ร้อยละ 10 โดยนิยมใช้หน่อในการเพาะปลูก
สำหรับต้นทุนการผลิตสับปะรด พบว่า มีต้นทุนการผลิตรวมทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 13,314.07บาทต่อไร่ ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 5,639.90 กิโลกรัมต่อไร่ หากคิดต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อกิโลกรัม พบว่า ต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 2.36 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้นทุนผันแปร 2.18 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนคงที่ 1,037.63 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 9.13 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรได้รับผลตอบแทนโดยรวมเฉลี่ย 51,492.32 บาทต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ38,178.25 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 3.87
ด้านวิถีการตลาด พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะขายให้พ่อค้าผู้รวบรวมผลผลิต (ร้อยละ 54)รองลงมาคือ ตัวแทนบริษัทหรือโรงงาน (ร้อยละ 22) พ่อค้าต่างถิ่น (ร้อยละ 20) และเกษตรกรเก็บไว้ขายเองที่ตลาด (ร้อยละ 4) ทั้งนี้ พ่อค้าผู้รวบรวมผลผลิตและพ่อค้าต่างถิ่น จะขายต่อให้กับพ่อค้าปลีกและนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค (บริโภคผลสด) คิดเป็นร้อยละ 78 และตัวแทนบริษัท/โรงงานขายให้โรงงานแปรรูป เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคแปรรูป คิดเป็นร้อยละ 22
ทั้งนี้ จากการศึกษา สศท.3 ค้นพบข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ สับปะรดเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาและปรับปรุงสายพันธุ์สับปะรดให้มีลักษณะเด่น โดยเฉพาะสับปะรดบริโภคผลสดพันธุ์พื้นเมือง (ไร่ม่วง) ของจังหวัดเลย เนื่องจากเกษตรกรหันมาให้ความสนใจปลูกเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่มากขึ้นตามการขยายพื้นที่ อีกทั้งควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้เรื่องการจัดการน้ำ เช่น ระบบน้ำหยด ระบบสปริงเกอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับดอกและผลผลิตให้ออกนอกฤดู จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางการตลาด ลดความเสี่ยงเรื่องตลาด และความเสี่ยงจากสภาพอากาศภัยแล้ง ท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถข้อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 โทร. 042 292 557-8 หรือ zone3@oae.go.th