กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 ศึกษา Zoning สินค้าข้าว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เผย ปีเพาะปลูก 2558/59 พื้นที่ปลูกข้าวรวม 183,107 ไร่ แนะ เกษตรกรต้องศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยดึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เช่น Agri - Map หรือapplication กระดานเศรษฐี เพื่อการคำนวณต้นทุนผลตอบแทนให้ได้ประโยชน์สูงสุด
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการที่ดินการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมการผลิตได้แก่ สภาพดิน แหล่งน้ำ คมนาคม Logistic โรงงานแปรรูป ตลาดรองรับผลผลิต ต้นทุนต่ำสุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยแบ่งระดับความเหมาะสมเป็น 4 ระดับ คือ S1 มีความเหมาะสมมาก, S2 มีความเหมาะสมปานกลาง, S3 มีความเหมาะสมน้อย, และ N ไม่มีความเหมาะสม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) ได้ดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) สินค้าข้าว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า ปีเพาะปลูก 2558/59 มีพื้นที่ปลูกข้าว 183,107 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ S1,S2 รวม110,192 ไร่ (ร้อยละ 60) มีผลผลิต 303 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุน(เงินสด) 1,953 บาท/ไร่ กำไร (เงินสด) 1,772 บาท/ไร่
พื้นที่ S3,N รวม 72,915 ไร่ (ร้อยละ 40) มีผลผลิต 221 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุน (เงินสด) 1,963 บาท/ไร่ กำไร(เงินสด) 754 บาท/ไร่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากปลูกข้าวในพื้นที่ S1,S2 จะมีผลผลิตสูงกว่า 82 กิโลกรัม/ไร่ และกำไรมากกว่า 1,018 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรร้อยละ 21 ที่ปลูกข้าวในพื้นที่ S3,N ที่มีผลกำไรไม่แตกต่างจากการปลูกในพื้นที่ S1,S2 เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี
ด้านนายฉัตรชัย เต้าทอง ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าวเสริมว่า เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู แบบ SWOT พบว่า จุดแข็ง คือ มีแหล่งรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ การคมนาคมสะดวก เกษตรกรมีภูมิปัญญาในการแปรรูปข้าวเป็นข้าวฮาง ข้าวกล้องงอก เครื่องดื่ม จุดอ่อน คือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ใช้พันธุ์ข้าวเดิม แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ดินเสื่อมจากการใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนาน ขาดการรวมกลุ่ม ขาดการวางแผนการผลิต และขาดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตร โอกาส ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนร่วมกับภาคเอกชน ผู้บริโภคต้องการข้าวปลอดภัย มีการขยายถนนเพิ่มช่องจราจร ทำให้สะดวกในขนส่งสินค้า อุปสรรค สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง เกิดวัชพืช โรค แมลง ราคาข้าวผันผวน ปัจจัยการผลิตราคาสูง
ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการ ควรปรับเปลี่ยนในพื้นที่ S3,N ไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน มะละกอ หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยพื้นที่ปลูกข้าว S3,N ควรปรับไปปลูกอ้อยในพื้นที่S1,S2 จำนวน 22,202 ไร่ เนื่องจากให้ผลกำไร (เงินสด) สูงถึง 2,712 บาท/ไร่ ประกอบกับมีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ใกล้เคียงถึง 4 แห่งที่รองรับผลผลิต
สำหรับพื้นที่ข้าว S1,S2 ควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิน น้ำ พันธุ์ข้าว เครื่องจักรกล การแปรรูป ที่ตรงความต้องการของตลาด และเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) นำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาประยุกต์ใช้ เช่น Agri - Map การคำนวณต้นทุนผลตอบแทนด้วย Application กระดานเศรษฐี การแกล้งดินเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว เป็นต้น โดยผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเกษตรและพัฒนาสู่ Smart farmer เคียงคู่ Smart officer อย่างมั่นคงและยั่งยืน