กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผนึกกำลังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เชื่อมโยงกระบวนการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเอกภาพ ภายใต้นโยบายเดียวกัน มุ่งบริหารจัดการระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมกระบวนการเฝ้าระวัง ติดตาม และการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย และการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า อีกทั้งบูรณาการการแจ้งเตือนภัยที่มีเอกภาพ ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ควบคู่กับการพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีมาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและความเสี่ยงภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสาธารณภัยที่ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะการวางระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพถือเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ จึงได้ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 ให้โอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2559 เป็นต้นมาเพื่อเชื่อมโยงกระบวนการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพและเอกภาพ ภายใต้นโยบายเดียวกัน รวมถึงพัฒนาระบบการเตือนภัยให้มีมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดการยกระดับการแจ้งเตือนภัยของประเทศในมิติต่างๆ ทั้งการบริหารระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมทั้งกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัย การคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัย การแจ้งเตือนล่วงหน้า และการแจ้งเตือนภัย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดแนวทางและขั้นตอนปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและความรุนแรงของสถานการณ์ภัยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในการแจ้งเตือนภัยเชิงรุก ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงในกระบวนการแจ้งเตือนภัย ทั้งระดับนโยบายโดยมีระบบการสั่งการที่มีเอกภาพ และระดับปฏิบัติการที่สามารถบูรณาการการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ การเชื่อมโยงระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีเอกภาพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับสามารถบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลการแจ้งเตือนภัย และข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติ ทำให้ผู้อำนวยการสาธารณภัยในแต่ละระดับมีข้อมูลประกอบการวางแผนสั่งการ และตัดสินใจแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลการแจ้งเตือนภัยมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการติดตาม คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงมีเครือข่ายอาสาสมัครในการตรวจสอบสภาวะอากาศ สังเกตความผิดปกติทางธรรมชาติในระดับพื้นที่ ทำให้สามารถระบุช่วงเวลาเกิดภัย พื้นที่เสี่ยงภัย แนวโน้มสถานการณ์ภัย และระยะเวลาการสิ้นสุดของภัยได้อย่างชัดเจน ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและความเสี่ยงภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบเตือนภัยและเชื่อมโยงภารกิจการแจ้งเตือนภัยรวมไว้ด้วยกัน ทำให้การสื่อสารข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ส่งผลให้ประชาชนสามารถเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้ทันท่วงที ทั้งนี้ การเชื่อมโยงภารกิจด้านการแจ้งเตือนภัย โดยโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติมาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพกลไกการแจ้งเตือนภัยของประเทศไทยให้เป็นระบบ และมีเอกภาพ รวมถึงยกระดับระบบการเตือนภัยให้มีมาตรฐาน สอดคล้องกับหลักการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามหลักสากลและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 สอดรับกับเป้าหมายกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2557 – 2573 ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยและความเสี่ยงภัยพิบัติของประชาชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย" (Safety Thailand) ที่มุ่งสร้างประเทศไทย "รู้รับปรับตัว ฟื้นเร็วทั่วอย่างยั่งยืน"
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th