ผลกระทบรถยนต์ไฟฟ้าต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และการเตรียมรับมือปัญหากับดักเชิงโครงสร้าง

ข่าวทั่วไป Monday October 3, 2016 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต การเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่างๆและการเมือง และผลกระทบจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่โดยเฉพาะผลกระทบของรถยนต์ไฟฟ้าต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน หากรัฐบาลและภาคเอกชนขาดการเตรียมความพร้อมต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่จะให้ประเทศไทย เป็น Detroit of Asia จะเป็นไปไม่ได้ และ ประเทศไทยจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกหากไม่มียุทธศาสตร์ต่อยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ การทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์แบบเดิมด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมาก ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน คุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้น ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและแรงงานดีขึ้น เกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆ และช่วยลดการนำเข้าพลังงาน ในเบื้องต้นประเมินว่า เกิดผลประโยชน์ทางมูลค่าเศรษฐศาสตร์ระหว่าง 10,000 ล้านบาทถึง 60,000 ล้านบาท (งานวิจัยของ สวทช จัดทำโดย ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่า อาจเกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 67,437 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ในไทยหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยมาตรการพิเศษจากภาครัฐ ข้อเสนอ 12 ข้อเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบและแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียานยนต์ 11.30 น. 2 ต.ค. 2559 มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การเตรียมรับมือกับกับดักปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบสถาบันต่างๆและการเมือง และผลกระทบจากเทคโนโลยีอุบัติใหม่โดยเฉพาะผลกระทบของรถยนต์ไฟฟ้าต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงาน รัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการขณะนี้ยังไม่มีทางออกหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหากับดักเชิงโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว ซึ่งปัญหาหลายประการจะทยอยปะทุขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าช่วงหนึ่งและ 10-20 ปีข้างหน้าอีกช่วงหนึ่ง โดยที่ระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ในมิติด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนปัจจัยที่กำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนทางด้านนวัตกรรม การลงทุนทางด้านการศึกษาและวิจัย ขณะที่ไทยมียอดการเกินดุลการค้าสูงมาก สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นช้ามาก เอกชนไม่กล้าลงทุน ไม่สั่งนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ ไม่สั่งนำเข้าเครื่องจักร มีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก แรงงานระดับล่างและเกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก มิติทางด้านการศึกษา เด็กกว่า 40% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กไทย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียน มีพัฒนาการต่ำกว่าวัย 2/3 ของครอบครัวไทยไม่สามารถมีเงินส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ มีความไม่เสมอภาคทางการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่กับชนบทสูงมาก ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอย่อมไม่สามารถแบกรับภาระที่มากขึ้นของโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้ดีนัก การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-11% ของจีดีพี (ตัวเลขจาก Thailand Future Analysis จากผลการศึกษาของ Hanushek and Woessman 2010) กับดักโครงสร้างทางการเมืองในรัฐธรรมนูญใหม่ที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ได้ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวถึง ผลของรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย ว่า หากรัฐบาลและภาคเอกชนขาดการเตรียมความพร้อมต่อพลวัตของเทคโนโลยีใหม่ๆ ยุทธศาสตร์ที่จะให้ประเทศไทย เป็น Detroit of Asia จะเป็นไปไม่ได้ และ ประเทศไทยจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกหากไม่มียุทธศาสตร์ต่อยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นที่ 9 ของโลก โดยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน (ส่งออก 1.2 ล้านคันและใช้ในประเทศ 8 แสนคัน) นักอนาคตศาสตร์ Tony Seba มองว่ารถยนต์แบบที่ไทยผลิตอยู่นั้นอาจขายไม่ได้เลย ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า ตนมองว่าอาจนานกว่านั้นนิดหน่อย (มองในแง่ดี) ประมาณ 5-10 ปี ตลาดหุ้นของไทยนั้นมากกว่า 1/3 ประกอบด้วยมูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน การกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี รวมทั้ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าหุ้นของธุรกิจอาจได้รับผลกระทบหากอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และพลังงานไม่ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่และจะมีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นโดยรวมด้วย รถยนต์ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่เป็นประโยชน์ได้ดีกว่ารถยนต์ ICE ที่ใช้กันอยู่ ถึง 4-5 เท่า EV หรือ Electric Vehicle นั้นเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้า เครื่องก็จะหมุนตัวและให้พลังงานและแรงบิดเต็มที่ทันที ไม่ทำให้เกิดความร้อนมากนัก เกือบจะไม่มีเสียงเลย สามารถสรุปได้จากงานวิจัยทางด้านนี้ว่า EV มีประสิทธิภาพประมาณ 80-90% ในขณะที่ ICE มีประสิทธิภาพ 20% รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV จะเป็น "game changer" หรือ "disruptive technology" ที่ทำให้ ICE สูญพันธุ์ได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า กรณีรถยนต์ Tesla นั้นนำไปบรรจุ (ชาร์จ) ไฟฟ้าครั้งหนึ่งวิ่งได้ประมาณ 320-400 กิโลเมตร จะจ่ายค่าไฟประมาณ 4.6 ดอลลาร์หรือประมาณ 150 บาท แต่ในสหรัฐอเมริกาบริษัท Tesla มีแหล่งชาร์จไฟเป็นพันแห่ง (และจะเพิ่มเป็นหลายพันแห่งทั่วประเทศภายในปลายปีหน้า) โดยอาจให้เติมไฟได้โดยไม่คิดเงินเลย ในขณะที่เราเติมน้ำมันรถยนต์เต็มถังครั้งหนึ่งประมาณ 62-63 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 2,000 บาท ยานยนต์ไฟฟ้าสึกหรอน้อยกว่ารถยนต์แบบเดิมมาก ไม่ต้องมีชิ้นส่วนมากมาย ไม่สร้างมลภาวะ ไม่มีมลพิษ เสียงไม่ดัง ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่ต้องระบายความร้อน บริษัท Tesla จึงรับประกันเครื่องยนต์ไฟฟ้า 8 ปี โดยไม่จำกัดระยะทาง ดร. อนุสรณ์ "เห็นด้วยกับรัฐบาลในการเปิดเสรีรถยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแต่ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการป้องกันผลกระทบทางลบด้วยโดยเฉพาะต่อการจ้างงานในประเทศ ส่วนผลกระทบด้านบวกจะทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆจำนวนมาก รวมทั้งทำให้สภาพแวดล้อมของโลกและของไทยดีขึ้นด้วย ผลการวิจัยจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะการศึกษาในมิติเศรษฐศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า การทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์แบบเดิมด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมาก ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน คุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนดีขึ้น ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจและแรงงานดีขึ้น เกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆ และช่วยลดการนำเข้าพลังงาน ในเบื้องต้นประเมินว่า เกิดผลประโยชน์ทางมูลค่าเศรษฐศาสตร์ระหว่าง 10,000 ล้านบาทถึง 60,000 ล้านบาท (งานวิจัยของ สวทช จัดทำโดย ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่า อาจเกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 67,437 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ในไทยหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยมาตรการพิเศษจากภาครัฐ เนื่องจากราคาไฟฟ้าต้องถูกกว่าราคาน้ำมันมากๆเนื่องจากแบตเตอรี่ยังมีอายุการใช้งานเพียง 8 ปี จะทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดมือสองตกลงอย่างมาก ฉะนั้นปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับ ราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ความยาวนานของอายุการใช้งานและสมรรถนะการจุพลังงานของแบตเตอรี่หรือประสิทธิภาพของแบตเตอรี่" อย่างไรก็ตาม ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้ตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ข้อแรก เสนอรัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบทางบวกทางลบของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจต่อเนื่อง ธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ผลกระทบต่อซัพพลายเชน (Supply Chain) และการจ้างงาน อุตสาหกรรมพลังงาน คุณภาพชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นคุณภาพอากาศ Global Warming และความแปรปรวนของภูมิอากาศ ข้อสอง การดำเนินนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ควรดำเนินควบคู่กับนโยบายจากการส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์และรถยนต์ประหยัดพลังงานซึ่งได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้เอกชนที่ได้ดำเนินการลงทุนกับโครงการของรัฐไปแล้วได้รับผลกระทบหรือประคับประคองให้เอกชนสามารถปรับตัวเข้ากับพลวัตเทคโนโลยีอุบัติได้อย่างเหมาะสม ข้อสาม รัฐต้องมีหน่วยงานในการกำกับมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าและมาตรฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ ข้อสี่ ให้รัฐบาลศึกษาวิจัยและกำหนดมาตรฐานรองรับผลกระทบต่อโครงสร้างการจ้างงาน ตลาดแรงงานและการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน หลักสูตรในสถาบันการศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ข้อห้า ต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่มีความเกี่ยวพันกับภาคเกษตรกรรม (อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน) ข้อหก ต้องมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) จะเป็นระบบสำคัญในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเจ็ด ผลกระทบในช่วง 10-20 ปีต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ยังไม่มาก ฉะนั้นในระยะ 10-20 ข้างหน้านี้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนต้องปรับโครงสร้างเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ข้อแปด ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นนโยบายและมาตรการที่คงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมา และต้องมีการบูรณาการนโยบายและมาตรการทั้งจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ข้อเก้า มาตรการทางภาษีโดยเฉพาะภาษีศุลกากรและการลดอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจะช่วยดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆเข้ามาลงทุนสร้างโรงงาน ข้อสิบ หากต้องการให้อุตสาหกรรมเติบโตควรเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือหรือช่างเทคนิคทั้งหลาย แต่การดำเนินการส่วนนี้ต้องรอบคอบเพราะอาจเกิดผลกระทบต่อแรงงานในประเทศได้ ข้อสิบเอ็ด ควรมีการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ข้อสิบสอง ควรมีการตั้งเป้าหมายจำนวนยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยด้านแบตเตอรี่และตั้งเป้าหมายการผลิตรถไฟฟ้าในประเทศให้ได้ภายในปี 2560 นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์และแผนงานอย่างชัดเจนในการตอบสนองและเตรียมรับมือต่อผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยีอุบัติใหม่พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรม (Disruptive Technology) ที่จะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวิถีชีวิตของผู้คน เช่น ผลกระทบ FinTech ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ผลของเทคโนโลยีเทสลารถยนต์ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้าที่ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน การจ้างงานและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี Blockchain ที่มีต่อระบบการเงินและอุตสาหกรรมธนาคารระบบการทำงานและการผลิตต่าง ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า "ขณะนี้เรายังไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูล ไม่มีงานวิจัยมากพอที่จะเข้าใจผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ (ไม่ว่าขับเคลื่อนโดยพลังงานไฟฟ้า ขับเคลื่อนโดยพลังงานไฮโดรเจนและยานยนต์ไร้คนขับ) ที่จะมีต่อ อุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเดิม ผลที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อุตสาหกรรมรถยนต์และธุรกิจต่อเนื่อง ธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน คุณภาพชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะประเด็นคุณภาพอากาศ Global Warming และความแปรปรวนของภูมิอากาศ" ทาง สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะจัดสัมมนาเพื่อกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์วิจัย เรื่อง ผลกระทบยานยนต์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมพลังงาน ในวันที่ 4 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก ซึ่งจะได้มีการระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ