กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส และดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2560 เติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องยนต์ทุกด้านมีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น และมองว่ามีหลายอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะต่อยอดการพัฒนาให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ไม่ยาก แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่แน่นอนของทิศทางการเมืองของประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาค ขณะที่ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อในอุตสาหกรรมการผลิตและสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง หนุนด้วยเศรษฐกิจจีนที่แม้จะเติบโตช้ากว่าในอดีตจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่มีการเติบโตดี ฝั่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง แต่ยังคงมีประเด็นการเลือกตั้งที่อาจสร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง ด้านยูโรโซนยังคงถูกรุมเร้าจากความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit ควบคู่กับปัญหาการเมืองที่อาจเกิดจากการเลือกตั้งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ทำให้ภาพการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยังคงเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อหดตัวสะท้อนนโยบายอาเบะโนมิกส์ยังไม่ประสบความสำเร็จจำเป็นที่จะใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2560
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนได้แรงหนุนเพิ่มจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก ที่มีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2559 เช่นเดียวกับภาคส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกอ่อนๆในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ทั้งปี 2559 มูลค่าส่งออกหดตัวเพียงร้อยละ 1.8 ขณะที่ ภาคท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญของตลาดนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 จากเดิมคาดที่ร้อยละ 2.8
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 โดยทุกองค์ประกอบมีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกจากการบริโภคสินค้าคงทนเริ่มกลับมาและรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยด้านผลผลิตเป็นหลัก ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็น เครี่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังเหลือการเบิกจ่ายในส่วนที่เป็นวงเงินสินเชื่อราว 1.7 แสนล้านบาท อาทิ โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SMEs โครงการบ้านประชารัฐ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นเช่นกัน แม้จะยังเป็นระดับที่ต่ำก็ตาม โดยเป็นผลบวกเชื่อมโยงจากการลงทุนภาครัฐ และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ร้อยละ 2.3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นำโดยตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ที่คาดว่ามีแนวโน้มสดใสอย่างชัดเจน จากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ ตลาดหลักอย่าง จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการผลิตของจีน ที่จะส่งผลลบต่อสินค้าไทยไปจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนจะลดความร้อนแรงลงจากปีที่ผ่านๆมา แต่ตลาดอื่นๆ ทั้งยุโรป อาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดจะอยู่ที่ 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6
ในด้านตลาดการเงิน ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่าอัตราดอกเบี้นโยบายของไทยมีแนวโน้มทรงตัวที่ร้อยละ 1.5 ณ สิ้นปี 2559 ไปจนถึงกลางปี 2560 และมีแนวโน้มปรับขึ้นเป็นร้อยละ 1.75 ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยปรับสูงขึ้นและการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ต่อเนื่องในปี 2560 ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจุบันถึงปลายปี แต่จะแข็งค่ากลับในปี 2560 โดย ณ สิ้นปี 2560 คาดว่าจะแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคและเป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นจากการมีเลือกตั้งในช่วงปลายปี
จากทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ภาพรวมของภาคธนาคารพาณิชย์ปี 2560 มีแนวโน้มสดใสมากขึ้น โดยสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 เร่งตัวขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้าง และการค้า ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สำหรับด้านเงินฝาก มีแนวโน้มเติบโตที่ร้อยละ 4.3 ตามการขยายตัวของสินเชื่อ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในด้านคุณภาพสินเชื่อ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (%NPL ratio) คาดว่าจะปรับสูงขึ้นจากร้อยละ 2.76 ณ สิ้นปี 2559 มาแตะจุดสูงสุดที่ร้อยละ 2.96 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักร NPL ที่จะทยอยปรับสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจชะลอตัว โดยสินเชื่อที่มีคุณภาพด้อยลงส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต และสินเชื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2560 สอดคล้องกับภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2559
นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตดีในปี 2560 ประกอบด้วย ธุรกิจการแพทย์ การขนส่งและโลจิสติกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป ซึ่งจัดเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการยกระดับการพัฒนาให้สูงขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ก่อนกลุ่มอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เกษตรและเกษตรแปรรูป อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันกระบวนการผลิตยังต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเข้าสู่เทคโนโลยีขั้นสูงก่อน ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวให้เข้าเทรนด์โลก โดยมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และการส่งเสริม R&D